ผ่าแนวคิด ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ลุยดิจิทัลเต็มรูปแบบ

10 ก.ค. 2565 | 03:00 น.

เปิดอาณาจักร “สารัชถ์ รัตนาวะดี” จากเจ้าพ่อพลังงาน รุกธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคทั่วประเทศ ก่อนขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจดิจิทัล จัดวางโครงสร้างระบบนิเวศเป็นเทคคอมพานีเทียบชั้นเบอร์หนึ่ง ส่งผลอันดับมหาเศรษฐีปี 65 เพิ่มขึ้น 1 อันดับ แซงหน้าตระกูล จิราธิวัฒน์

ทุกย่างก้าวของ “เสี่ยกลาง” หรือนาย สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF น่าจับตาเสมอ เพราะหลังจากนำ GULF ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทยในแง่มูลค่าตามราคาตลาด เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ในปี 2560 ชื่อของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ก็ปรากฏอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีไทยของนิตยสารฟอร์บส์ทันทีในปี 2561 

ผ่าแนวคิด ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ลุยดิจิทัลเต็มรูปแบบ

“สารัชถ์”ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจพลังงานของตัวเองในปี 2537 ภายใต้ชื่อ กัลฟ์ (GULF) โดยเริ่มจากธุรกิจแรก “กัลฟ์ อิเล็กทริก” (Gulf Electric) ได้งานสัมปทานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินทางภาคใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีการปฏิรูปเศรษฐกิจและเชิญชวนให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงาน จนล่าสุด GULF มีกำลังผลิตติดตั้ง 7,875 เมกะวัตต์ในปี 2564 และมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา/ก่อสร้างอีกหลายโครงการ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของ GULF อยู่ที่ราว 14,498 เมกะวัตต์ในปี 2570

ปี 2562 GULF ขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส3, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 (อาคาร F), โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา(M6),โครงการบริการ เดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี(M81) และยังมีโครงการร่วมทุนเพื่อลงทุนและดำเนินงานระบบจำหน่ายไฟฟ้าและระบบทำความเย็นสำหรับโครงการ One Bangkok ล่าสุด GULF ยังเข้าซื้อซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มอีกด้วย 

ผ่าแนวคิด ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ลุยดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ปี 2564 “เสี่ยกลาง” สร้างความสั่นสะเทือนวงการโทรคมนาคม เมื่อ GULF ตัดสินใจเทกโอเวอร์บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) หรือ INTUCH ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีผลต่อเนื่องให้ต้องตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ไปด้วย เป็นการเปิดประตูไปสู่โอกาสในการดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอื่นๆ ตามมา

การเล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศของ “สารัชถ์” จากเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งให้ “สารัชถ์” รักษาแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2564 ไว้ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 จากการจัดอันดับของนิตยสารการเงินธนาคาร โดยถือหุ้นมูลค่ารวม 173,099.73 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 57,809.73 ล้านบาท หรือ 50.14%

 

ความมั่งคั่งของ “สารัชถ์” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ที่ก้าวเข้ามาเป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยเป็นปีแรก “สารัชถ์” ยังกลายเป็นมหาเศรษฐีไทยอันดับ 5 หลังทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 เป็น 8.9 พันล้านดอลลาร์จากการจัดอันดับของฟอร์บส์ ประจำปี 2564

 

ธุรกิจเทคโนโลยีของ GULF ปัจจุบันเป็นการสร้างอาณาจักรในระบบนิเวศ หรือที่เรียกว่า Ecosystem จึงเห็น GULF ผนึกความร่วมมือกับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) ตั้งบริษัท เอไอเอส ดีซี เวนเจอร์ เพื่อลุยธุรกิจศูนย์ข้อมูล(Data Center)ในประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาที่ตั้ง Data Center และคาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้ ซึ่ง Data ถือเป็นหัวใจที่จะเสริมความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

 

ปลายปี 2564 GULF ได้จัดตั้งบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด และช่วงเมษายนที่ผ่านมา กัลฟ์ อินโนวา ร่วมลงทุนแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลกอย่าง ไบแนนซ์ (Binanace) ด้วยการจัดตั้งบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf Binance) เพื่อร่วมลงทุนในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ขณะเดียวกัน Gulf ยังเข้าลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล BNB ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลหลักของระบบนิเวศทางธุรกิจของ Binance ถือเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมใน Ecosystem ของ Binance ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี Blockchain Infrastructure ระดับโลก

 

ข้ามฟากมาที่ ADVANC ได้ร่วมลงทุนกับธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) จัดตั้งบริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ถือหุ้น 50:50 ประกอบธุรกิจให้บริการด้านสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกมากยิ่งขึ้นให้กับฐานลูกค้าของเอไอเอสกว่า 44.1 ล้านราย ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต

 

ผลของการรุกเข้ามาสู่ธุรกิจดิจิทัล ดันให้อันดับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ของ“สารัชถ์” พุ่งขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 จากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2565 ของฟอร์บส์ ประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.1 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 3.87 แสนล้านบาท แซงหน้าตระกูลจิราธิวัฒน์ แต่ยังเป็นรองเจริญ สิริวัฒนภักดี เฉลิม อยู่วิทยาและครอบครัว รวมถึงพี่น้องเจียรวนนท์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย

 

ล่าสุด ADVANC ส่งบริษัทลูกอย่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)เข้าซื้อหุ้นใน บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ท 3BB จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (ACU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS)และยังได้บริษัทย่อยอีก2 บริษัท คือบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็จ จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด ขณะเดียวกันยังเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างฟื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จาก JAS อีก 1,520 ล้านหน่วยทั้ง2  ธุรกรรมมีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

 

ส่งผลให้ ADVANC มีส่วนแบ่งการตลาดขยับขึ้นเข้าใกล้ TRUE ที่เป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมบรอดแบนด์ทันที จากฐานลูกค้าเดิมของ ADVANC ที่มี 1.87 ล้านรายและฐานลูกค้าของ TTTBB อีก 2.42 ล้านรายรวม 4.29 ล้านราย ตามหลัง TRUE เล็กน้อยที่ 4.73 ล้านราย ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันจากส่วนแบ่งการตลาดฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 15% ของผู้ใช้บรอดแบนด์ทั้งหมดของประเทศเป็น 35% ใกล้เคียงกับ TRUE ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 38%

 

การจัดวางรูปแบบธุรกิจดิจิทัลของ“เสี่ยกลาง” เหมือนเดินตามรูปแบบการจัดวางโครงสร้างธุรกิจใหม่ของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ที่ยกระดับยานแม่ภายใต้ SCBx เป็นเทคคอมพานีในการลุยสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นการจัดวาง Ecosystem ของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อะไรที่เป็นเหตุจูงใจให้เจ้าพ่อด้านพลังงานหันมาลุยด้านดิจิทัล “สารัชถ์ รัตนาวะดี”เท่านั้นที่จะตอบได้อย่างชัดเจน

 

หน้าที่ 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,799 วันที่ 10-13 กรกฎาคม พ.ศ. 2565