สบน. ปรับแผนกู้ รับดอกเบี้ยขาขึ้น ลดกระทบต้นทุนกู้เงินรัฐบาล

30 พ.ค. 2565 | 05:55 น.

สบน. ปรับแผนกู้เงิน จ่อออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มอีก 5.5 หมื่นล้าน หลังทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น หวังลดผลกระทบต้นทุนกู้เงินรัฐบาล ขณะที่ดอกเบี้ยพอร์ตหนี้สาธารณะไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% ย้ำรัฐบาลใช้หลายเครื่องมือกู้เงิน เพื่อให้มีต้นทุนที่เหมาะสม

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เตรียมจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่น “ออมเพิ่มสุข” วงเงินรวม 55,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนมาใช้กู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณ เริ่มจำหน่ายวันแรก 13 มิ.ย. 65 นี้  ซึ่งเป็นไปตามแผนการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรออมทรัพย์

 

หลัง สบน. ได้ปรับแผน การออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบฯ 65 เพิ่มขึ้น เป็น 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 64 ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท หรือ 33% เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จากเดิมวางแผนไว้ที่ 1.5 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้การออกพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่น “ออมเพิ่มสุข” จะเป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 65 หลังจากช่วงเดือน พ.ย.64 สบน. ได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งที่ 1 วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท สำหรับใช้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และครั้งที่ 2 ในช่วงต้นปี 65 เพื่อกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้าน

“แผนออกพันธบัตรในปีนี้ยังเหมือนเดิมที่ 1.1 - 1.3 ล้านล้านบาท แต่ความต้องการในพันธบัตรออมทรัพย์ยังมี สบน.จึงปรับแผนมาออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มรวมเป็น 1.6 แสนล้านบาท แต่ สบน. คาดจะออกพันธบัตรอยู่ในกรอบล่างของแผนที่วางไว้ เพื่อไม่ให้ตลาดโอเว่อร์ซัพพลาย และกระทบต่อนักลงทุน ปฏิเสธไม่ได้ว่า แผนการกู้เงินเราเยอะ เราก็ต้องกระจายไปยังเครื่องมือต่างๆ ถ้าปีหน้าไม่มีพ.ร.ก.กู้เงินอีก การออกพันธบัตรออมทรัพย์ก็จะลดลง” นายแพตริเซีย กล่าว

 

แพตริเซีย มงคลวนิช  ผอ. สบน.

 

นางแพตริเซีย กล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น และจะส่งผลต่อต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทั้งนี้ สบน. ได้ปรับแผนการกู้เงินจากดอกเบี้ยลอยตัวเป็นแบบดอกเบี้ยคงที่มากขึ้น

 

สะท้อนจากแผนการออกพันธบัตรในปีงบประมาณ 65 ที่ 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ก็จะช่วยลดต้นทุนการกู้เงินได้ในระดับหนึ่ง พร้อมย้ำเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก

 

“เงินกู้ต่างประเทศปัจจุบันเหลือไม่ถึง 2% สบน.ได้สวอฟกลับมา เพื่อลดความเสี่ยงดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนเงินเฟ้อคงทำอะไรไม่ได้ หากจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำลง แต่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นต้นทุนของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการกู้เงินในอนาคตด้วย” นางแพตริเซีย กล่าว

 

นายแพตริเซีย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพอร์ตหนี้สาธารณะ มีมีต้นทุนดอกเบี้ยคงที่กว่า 80% เฉลี่ยอยู่ที่เฉลี่ย 2.3% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยทั้งพอร์ตหนี้ ที่ สบน. ได้ทำการกู้เงินตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และดอกเบี้ยมีการปรับตัวสูงขึ้น พร้อมย้ำไม่ใช่การกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูงทั้งหมด ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ในการกู้เงิน  

 

ขณะที่การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น ล่าสุดยังคงเหลือวงเงินที่ ครม. ยังไม่อนุมัติให้กู้อีก 7.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากจำเป็นต้องกู้เงิน คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ จะต้องนำเสนอขออนุมัติจากที่ประชุม ครม. ก่อน แล้วจึงจะส่งตัวเลขเงินที่ต้องการใช้และกรอบระยะเวลาการใช้เงินมายัง สบน.

 

เพื่อให้ สบน.ได้วางแผนทยอยกู้เงิน ทั้งนี้การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.ฯ ฉบับดังกล่าว จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 65 โดยหลังจากนั้นหน่วยงานต้นเรื่องยังสามารถทยอยเบิกจ่ายเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายตามแผนได้