สบน.จ่อออก Amortize Bond 1.5 หมื่นล้านบาท

09 มี.ค. 2565 | 06:53 น.

สบน.กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 65 เตรียมออก Amortized Bond 1.5 หมื่นล้านบาท อายุ 25 ปี ดอกเบี้ยคงที่ เผยรัฐบาลญี่ปุ่นไฟเขียวปล่อยกู้ไทย 500 ล้านดอลลาร์ รับมือโควิด-19 ดอกเบี้ย 0.01% อายุกู้ 15 ปี ปลอดเงินต้น 4 ปีแรก คาดอนุมัติวงเงินปลายมี.ค.นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า วันที่ 9 มีนาคมนี้ สบน.จะเปิดสอบถามความต้องการนักลงทุน ในการออกพันธบัตรรัฐบาลแบบทยอยชำระคืนเงินต้น หรือ Amortized Bond วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ อายุ 25 ปี เพื่อนำเงินมาใช้ชดเชยการขาดดุล ในปีงบประมาณ 2565

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

“การนำ Amortized Bond กลับมาใช้ เพื่อเป็นการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการระดมทุน ซึ่งที่ผ่านมาสบน.ได้ใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการระดมทุนกู้ชดเชยการขาดดุล เช่น การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond)” นางแพตริเซีย กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 จากรัฐบาลญี่ปุ่นวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ฯ นางแพตริ เซียกล่าวว่า ล่าสุดได้รับการตอบรับจากรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ดำเนินการให้รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติวงเงิน ซึ่งวงเงินที่ให้กู้ยืมจะเป็นสกุลเงินเยน อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ 15 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นในช่วง 4 ปีแรก ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลปลายเดือนมีนาคมนี้ 

 

“เงินกู้จากญี่ปุ่น เป็นแพคเกจที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาช่วยเหลือทางการเงินให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เท่ากันทุกประเทศ ไม่ใช่ให้เฉพาะไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยขณะนี้อยู่ระหว่าอนุมัติวงเงิน คาดจะรู้ผลในช่วงสิ้นเดือนมีนานี้”นางแพตริเซีย กล่าว  
 

ขณะที่ความคืบหน้า การกู้เงินแก้ปัญหาโควิด-19 ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท นั้น ขณะนี้ ครม. ได้อนุมัติวงเงินกู้ไปแล้วประมาณ 4.02 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายไปแล้วคิดเป็น 76.5% ของวงเงินที่อนุมัติ โดยยังคงเหลือวงเงินให้ ครม. อนุมัติได้อีก 9.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ 59.88% และหากกู้ตามวงเงินทั้งหมด จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 อยู่ที่ 62% ภายใต้จีดีพีโต 3.5% - 4.5% 

 

“วงเงินที่เหลือจะเพียงพอสำหรับการรับมือโควิด-19 หรือไม่นั้น จะต้องไปพิจารณาว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มอีกหรือไม่ โดยขณะนี้ยังไม่มีแผนการกู้เงินเพิ่มในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มีการปิดประเทศ ดังนั้นการกู้เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิดคงไม่มี”นางแพตริเซีย กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,764 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2565