มีคนโอนเงินผิดมาให้ ทำไงดี แนะวิธีง่าย ๆไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

01 มิ.ย. 2565 | 03:05 น.

รู้เท่าทันกลโกง เมื่อมีคนโอนเงินผิดมาให้ ต้องรีบโอนเงินคืนกลับไหม หรือควรทำไงดี แนะวิธีง่าย ๆไม่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

บางครั้งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาจสร้างปัญหาให้เรามากกว่าที่คิด หรือการเป็นคนดีเกินไป อาจนำภัยมาสู่ตัวเองได้เหมือนกัน อย่างเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่อยู่ดีๆ ก็มีคนโอนเงินผิดมาเข้าบัญชีเรา ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีประเด็นอะไร ใครโอนเงินผิดมา เราก็โอนเงินคืนกลับไปให้ แต่จริงๆ แล้ว การรีบร้อนโอนเงินคืนไปให้ บทสรุปของเรื่องอาจจบไม่สวยอย่างที่คิด

 

ห้ามโอนเงินคืน เพราะอาจเป็นกลลวงของมิจฉาชีพ

 

เรื่องของเรื่องคือ การโอนเงินผิดนั้น อาจเกิดขึ้นจากความตั้งใจของมิจฉาชีพ เช่น ผู้ที่โอนเงินผิดอาจสั่งซื้อของผิดกฎหมาย จึงเลี่ยงการถูกตรวจสอบเส้นทางโอนเงินด้วยการโอนไปที่บัญชีใครสักคนแทน กรณีนี้หากเราโอนเงินกลับไปให้ ก็อาจเข้าข่ายผู้กระทำความผิดตามไปด้วย

 

ดังนั้นเมื่อมีคนที่ไม่รู้จักติดต่อมาว่ามีการโอนเงินผิดเข้ามายังบัญชีของเรา อย่ารีบร้อนขอเลขบัญชีเพื่อโอนเงินคืนให้โดยเด็ดขาด แต่ให้สังเกตว่า ผู้นั้นติดต่อมาเพื่อแจ้งรายละเอียดการโอนเงินผิดให้เราทราบเป็นหลัก หรือติดต่อมาเพื่อขอข้อมูลส่วนตัวจากเรา และเร่งรัดให้เราเป็นผู้โอนเงินกลับไปให้ ซึ่งถ้าเป็นการโอนเงินผิดจริง ผู้ที่จะโทรมาติดต่อเราควรเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคาร และต้องไม่เร่งรัดให้เราโอนเงินคืนกลับไปให้

 

ขอชื่อ-เบอร์ติดต่อของผู้ที่โทรหา 

 

เมื่อได้รับการติดต่อเรื่องการโอนเงินผิดมาที่บัญชีของเรา สิ่งที่ผู้ติดต่อต้องแจ้งเราคือ ติดต่อมาจากธนาคารไหน มีรายการผิดปกติอะไรเกิดขึ้น เมื่อไหร่ ช่วงเวลาไหน จำนวนเงินเท่าไหร่ และเป็นการทำรายการผ่านช่องทางใด ที่สำคัญเมื่อพูดคุยกันเสร็จแล้ว ให้เราขอชื่อ – สกุล และเบอร์ติดต่อกลับของผู้ที่โทรหาเราไว้ด้วย จากนั้นขอเวลาตรวจสอบก่อนว่ามีการโอนเงินผิดบัญชีมาตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาจริงหรือไม่

โทรติดต่อธนาคารเพื่อตรวจสอบ

 

หลังจากวางสายแล้ว ให้ตรวจสอบบัญชีของเราก่อนว่ามีเงินโอนเข้ามาตามที่ได้รับแจ้งจริงหรือไม่  หากเรามี Internet Banking หรือ Mobile Banking ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบรายการได้เลย แต่ถ้าไม่มี อาจสอบถามไปยัง Call Center ของธนาคารเพื่อตรวจสอบการโอนเงินให้  

 

หากตรวจสอบแล้วมีการโอนเงินผิดบัญชีจริง ธนาคารจะติดต่อขอให้เรายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้ดำเนินการดึงเงินกลับไปยังบัญชีต้นทางให้ โดยเราไม่ต้องโอนด้วยตนเอง ซึ่งธนาคารจะแจ้งผลการทำรายการให้เราเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่หากเราเพิกเฉยไม่ยอมคืนเงิน อาจถูกฟ้องร้องข้อหาฉ้อโกงทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของตัวเองโดยเจตนาได้

 

แจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน


สำหรับใครที่กังวลว่า วันดีคืนดีอาจถูกเรียกตัวไปเรื่องรับโอนเงินจากมิจฉาชีพ เพื่อความปลอดภัย เราสามารถไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้อีกทางก็ได้เช่นกัน อย่างน้อยก็มีหลักฐาน ที่มาที่ไป ในความบริสุทธิ์ใจของเรา


สรุปแล้ว เรื่องแบบนี้ รอบคอบไว้ก่อนเป็นดี เงินไม่ใช่ของเรา เมื่อมีคนโอนผิดมา ต้องหาวิธีการจัดการที่ถูกต้อง จะได้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง เช่นเดียวกัน จะโอนเงินไปให้ใคร ก็ตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนให้เรียบร้อย จะได้สบายใจ ไม่ต้องเสียเวลาติดตามถามทวง

 

อ้างอิงที่มา : เพจ SCB Thailand ,ธนาคารไทยพาณิชย์,ฐานเศรษฐกิจ