“ชาญกฤช” สั่งรื้อโครงสร้างหวยทั้งระบบ-เพิ่มโทษ ต้องชัดเจนใน 6 เดือน

11 เม.ย. 2565 | 09:06 น.

“ชาญกฤช” ประธานคณะอนุฯ แก้สลากฯเกินราคา สั่งศึกษาปรับโครงสร้างจำหน่ายสลากฯ ทั้งระบบให้เสร็จภายใน 3-6 เดือน พร้อมพิจารณา เพิ่มโทษทางกฎหมายแก่ผู้กระทำผิด ทั้งแพ่ง อาญา

วันนี้ (11 เมษายน 2565) นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา กล่าวว่า จากการประชุมอย่างต่อเนื่องกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการได้มีข้อสรุปหัวข้อการศึกษาที่ลงลึกในมิติต่างๆ

 

ได้แก่ สาเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา  ประกอบด้วย โครงสร้างราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย การเปลี่ยนมือของสลาก ความเหมาะสมของสัดส่วนการจัดสรรและการกระจายสลาก และปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในระดับนโยบาย 

 

ชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อีกประเด็นหนึ่ง ที่คณะอนุกรรมการให้ความสำคัญ คือ แนวทางที่ทำให้สลากถึงมือผู้ขายจริงในราคาไม่เกิน 80 บาท รวมถึง ช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ การขึ้นทะเบียนผู้ค้า และการบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ การใช้กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

 

โดยศึกษาเปรียบเทียบงานวิจัย/รายงานการศึกษาต่างๆ และในขณะเดียวกัน ต้องมีการหาแนวทางมาตรการทางฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพ ทั้งทางแพ่ง อาญา และกฎหมายอื่น

ประธานคณะอนุกรรมการ ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานเพื่อให้ได้ผลการศึกษา และแนวทางตลอดจนมาตรการ ไม่เกิน 6 เดือน ที่จะต้องมีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม

 

ทั้งนี้ หลังจากได้ผลการศึกษาแล้ว คณะอนุกรรมการจะส่งไปที่สำนักงานสลาก ฯ เพื่อพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ศึกษาต้นตอปัญหา และเสนอแนวทางมาตรการที่จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้สลากถึงมือผู้ขายจริง และผู้ซื้อสามารถซื้อได้ในราคา 80 บาทอย่างเป็นรูปธรรม

 

และยังได้เน้นย้ำการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในรูปแบบของกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ เพื่อลงโทษและให้รางวัลตอบแทนผู้ที่ทำความดี ให้ความร่วมมือในลักษณะของ White list และ Black list ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ปิดจุดวิจารณ์ และคำนึงถึงทุกเข้าถึงของทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง 

 

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ยังมุ่งเป้าให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ค้าให้จงได้  และปลายทาง เป็นส่วนของการจัดการนำมาตรการทางกฎหมายให้มีสภาพบังคับที่เข้มข้นขึ้น ทั้งแพ่ง อาญา และกฎหมายอื่น ๆ รวมถึงการผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยการออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อย่นระยะเวลาให้รวดเร็วขึ้น