“วิรไท” ห่วงหนี้ครัวเรือน ระเบิดเวลาเสถียรภาพการเงินไทย

04 เม.ย. 2565 | 11:55 น.

“วิรไท” หวังเห็นนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ห่วงสะสมนานเป็นระเบิดเวลาต่อเสถียรภาพการเงินไทย พร้อมมอง กฎหมายแบงก์ชาติ ควรเอื้อให้สามารถเข้าไปดูแลสถาบันการเงินนอกจากธนาคารพาณิชย์ได้

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ที่จัดโดย ธปท. โดยกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมา 5 ปี (พ.ศ. 2558 – 2563) โลกมีความผันผวน ความไม่แน่นอน และมีความซับซ้อนสูง และเป็นช่วงที่นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำและต่อเนื่องกันนานเป็นประวัติการณ์รวมถึงไทย

 

ทำให้นักลงทุนเกิดการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่มักนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร ทำให้เกิดความกังวลในระบบการเงิน หรือ ระบบการเงินเงา หรือ นอนแบงก์ ซึ่งมีเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีอย่างน้อย 3 จุด ที่มีโอกาสสร้างความเสี่ยงให้ระบบเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน ได้แก่

จุดที่ 1 คือ  ตลาดทุน ซึ่งมีปัญหาที่หุ้นกู้ของเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และมักจะให้ผลตอนแทนสูง และอายุสั้น 3-6 เดือน ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือ แม้แต่ในช่วงเดือนเมษายน 63 ที่เกิดโควิดและรัฐบาลได้ใช้มาตรการล็อคดาวน์ และไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะจบอย่างไร

 

โดยขณะนั้น แม้แต่พันธบัตรรัฐบาลที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำที่สุด นักลงทุนมีการเทขาย ทำให้ ธปท. ต้องมีการประชุมเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในคืนวันศุกร์ และดำเนินมาตรการอื่นๆ เพิ่มอีกหลายมาตรการ เพื่อไม่ให้เกิดไฟลามทุ่ม จนเชื่อมโยงมาถึงระบบเสถียรภาพการเงินทั้งหมด

จุดที่ 2 คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่เป็นแหล่งดึงดูดเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ เพราะด้วยดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนสูง แต่กฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลก็มีปัญหา เกิดการทุจริต แต่โชคดีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปดูแลและแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด

 

จุดที่ 3 คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถูกใช้เป็นกลไกในการทำนโยบายกึ่งประชานิยม และมีการบันทึกความเสียหายที่เกิดขึ้นแบบไม่ตรงไปตรงมา ทำให้ในช่วงของผู้ว่าการ ประสาน ไตรรัตน์วรกุล และลากยาวถึงสมัยของตน ธปท.ได้เข้าไปมีบทบาทในการกำกับดูแล และออกกฎเกณฑ์กำกับใหม่ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

 

นายวิรไท ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ที่ยังหวังว่าจะมีนโยบายหลายๆด้าน เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ ซึ่งในส่วน ของ ธปท. ได้มีการออกกฎเกณฑ์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มภายใต้การกำกับของ ธปท. โดยได้ออกเกณฑ์กำกับเครดิตการ์ด และเกณฑ์ควบคุม LTV หลังพบปรากฎการณ์สินเชื่อเงินทอน คือ การประเมินราคาบ้านที่สูงกว่าราคาตลาดที่แท้จริง

 

“แบงก์พาณิชย์ แข่งกันปล่อยสินเชื่อและให้ท็อปอัพขึ้นไปอีก เช่น ราคาบ้าน 100 บาท ก็ให้สินเชื่อ 120 บาท ทั้งๆที่ราคาบ้านก็ไม่สอดคล้องกับราคาตลาดที่แท้จริง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นระเบิดเวลา ที่หากไม่เข้าไปจัดการก็จะสะสมไว้ และเกิดการระเบิดขึ้นมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ ต้นทุนระบบการเงินที่สูงมากในการเข้าไปจัดการภายหลัง” นายวิรไท กล่าว

 

วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

 

นายวิรไท กล่าวถึง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับปัจจุบัน ได้มีการเขียนขึ้นเพื่อคานอำนาจการทำงานของ ธปท. โดยกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง มานั่งเป็นกรรมการในการทำนโยบายขนาดใหญ่ ทั้ง คณะกรรมการนโยบายการเงิน และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน

 

ซึ่งต่างจากในอดีต ที่ผู้บริหารแบงก์ชาติ คิดเองทำเอง ดังนั้นการดำเนินนโยบายภายใต้ กฎหมายฉบับปัจุจบันจะมีมุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกค่อนข้างมาก

 

ทั้งนี้แม้โครงสร้างกฎหมายปัจจุบันค่อนข้างดีและได้รับการยอมรับ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องทบทวน คือ จะทำอย่างไรให้กฎหมายเอื้อในการเข้าไปดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ได้  

 

“กฎหมาย ธปท. ฉบับปัจจุบันค่อนข้างได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มองว่ามีความทันสมัย และสอดรับกับบริบทประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดเล็ก  แม้โครงสร้างกฎหมายปัจจุบันที่ค่อนข้างดี

 

แต่ยังมีจุดที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้กฎหมายเอื้อมากขึ้น ในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ เพราะหากพูดถึงเสถียรภาพระบบการเงินในภาพใหญ่ จะโยงถึงตลาดทุน สหกรณ์ออมทรัพย์ แต่วันนี้กฎหมายยังแยกเป็นกล่องๆ แต่เมื่อเวลาเกิดปัญหาด้านเสถียรภาพมันจะเชื่อมโยงกันหมด”  นายวิรไท กล่าว

 

อดีตผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า คุณค่าหลักของ ธปท. คือ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน ซึ่งการตีความในบริบทเหล่านี้ต้องเท่าทันสภาพแวดล้อมและความท้าทายที่เผชิญ

 

เช่น คำว่ายืนตรง คือ ต้องกล้าเข้าไปทำในสิ่งที่ควรจะทำในฐานะบทบาทของผู้กำกับดูแล ต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงความบิดเบือนหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น แม้ในภาวะที่เกิดวิฤตบางเรื่องอาจไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตของ ธปท. โดยตรง แต่หากไม่กล้าทำ ก็จะขว้างงูไม่พ้นคอ และจะเกิดผลเสียที่มากกว่า

 

ส่วนคำว่า มองไกล จะต้องมองให้ไกลและกว้างถึงเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะระบบมีความเชื่อมโยงกันสูงมากและมีหลายองค์ประกอบและหลายปัจจัย และที่สำคัญต้องมองไปถึงทางออก

 

ขณะที่คำว่า ยื่นมือ และ ติดดิน เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการเป็นอิสระของ ธปท. ในการดำเนินนโยบาย ดังนั้นการดำเนินงานจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือ ซึ่งความน่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะประชาชน

 

พร้อมย้ำว่า หลายปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาขนาดใหญ่ ทั้งหนี้ครัวเรือน การขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การขาดความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจไทย หากไม่ทำ จะกลับมาเป็นปัญหาต่อระบบเสถียรภาพที่หนีไม่พ้น