ธนารักษ์ เดินหน้าท่อส่งน้ำ EEC ยัน ”วงษ์สยามฯ” ให้ประโยชน์รัฐสูงสุด

16 มี.ค. 2565 | 06:05 น.

อธิบดีกรมธนารักษ์ยัน เหตุบอร์ดที่ราชฯ อนุมัติ ”วงษ์สยามก่อสร้าง” เดินหน้าโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี เพราะให้ประโยชน์รัฐสูงสุด โดยไม่รอผลตัดสินศาลปกครอง หลัง ”อีสท์วอเตอร์” ยื่นคำร้องคัดค้านการประมูล ชี้ที่ผ่านมาอีสท์วอเตอร์ให้ผลประโยชน์รัฐต่ำมากแค่ 550 ล้าน

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์วันนี้ (16มี.ค.65) ถึงกรณีคณะกรรมการที่ราชพัสดุที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 14 มี.ค.65 ให้บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออกในเขตอีอีซี และสามารถเดินหน้าโครงการดังกล่าวได้ โดยไม่รอการพิจารณาของศาลปกครองที่มีคำร้องคัดค้านผลการประมูลของบริษัท อีสท์วอเตอร์ จำกัด(มหาชน)

 

โดยนายประภาศกล่าวว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาถึงผลประโยชน์ต่อรัฐเป็นที่ตั้ง และ ไม่กังวลว่า ทางบริษัทอีสท์วอเตอร์สามารถดำเนินการฟ้องร้องต่อกรมฯได้ หากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการประมูล ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.65 ทางอีสท์วอเตอร์ได้ยื่นต่อศาลให้คุ้มครองชั่วคราวต่อผลการประมูลอีกครั้ง โดยขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งศาลจะนัดพิจารณาอีกครั้ง 18 มี.ค.นี้

“เราไม่ได้เกรง ในจุดที่จะมีการฟ้องร้องจากอีสท์วอเตอร์ เพราะเราดูผลประโยชน์ของรัฐที่จะได้รับในวันที่ลงนามสัญญา กับ วันที่ส่งมอบทรัพย์สินกับทางวงษ์สยามก่อสร้าง ซึ่งรวมแล้วจะได้เม็ดเงินประมาณ 1.5 พันล้านบาท” นายประภาศ กล่าว

 

นายประภาศ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา บริษัทอีสท์วอเตอร์จ่ายค่าตอบแทนให้รัฐทั้งหมดตลอดระยะเวลาถึงปัจจุบัน แค่ 550 ล้านบาท เราก็มาคำนึงถึงว่า เมื่อเราแพ้คดีจริงๆ เข้าใจว่า ศาลคงไม่ชดใช้ค่าเสียหายถึงขนาด 1.5 พันล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม จะต้องมาพิสูจน์ความเสียหายตามหลักความรับผิดทางละเมิดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นของอีสท์วอเตอร์ จากกรณีไม่ได้โครงการนี้มีอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นไปตามกระบวนกฎหมายแพ่งที่ต้องพิสูจน์ว่า ความเสียหายที่แท้จริงคืออะไร

“เราก็คาดหวังว่า ความเสียหายไม่น่าจะถึงขนาดนั้น และก็ประเมินความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ ถ้าเกิดชะลอและความล่าช้า ความรับผิดอาจมาอยู่ที่คณะกรรมการกรมธนารักษ์ เพราะละเลยไม่ดำเนินการทำให้รัฐได้เงินล่าช้า”

 

ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์

 

ทั้งนี้ หากกรมฯ ลงนามในสัญญาทันทีกับบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ณ วันนี้ ก็จะได้เงิน 1.5 พันล้านบาท อย่างที่เรียน ถ้าชะลอไป รัฐก็เสียหาย อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ได้กำหนดวันเซ็นสัญญา เพราะต้องรอขั้นตอนคำแนะนำจากอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการส่งมอบทรัพย์สิน

 

“ยังมีประเด็นที่สำคัญ คือ ก่อนลงนามในสัญญา จะต้องตรวจสอบบัญชีรายการทรัพย์สินก่อนที่จะมีการส่งมอบและบัญชีรายการทรัพย์สินจะต้องเป็นหนึ่งในภาคผนวกของสัญญา ซึ่งกรมฯก็จะดำเนินการตามขั้นตอน คือ แจ้งไปยังวงษ์สยามและอีสท์วอเตอร์ เพื่อเตรียมการในการส่งมอบทรัพย์สิน”

 

ทั้งนี้ กรณีที่อีสท์วอเตอร์ระบุว่า จะไม่มีการแจกแจงทรัพย์สินและส่งมอบ โดยอ้างมติ ครม.ที่ได้ให้สิทธิ์ในการบริหารจัดการท่อส่งน้ำในอีอีซีเพียงผู้เดียวนั้น เรื่องนี้ เป็นหนึ่งในข้อต่อสู้ในศาลฯ เช่นกัน แต่กรมฯได้ประเมินมติครม. ดังกล่าวแล้ว โดยมติ ครม.ปี 2535 ได้ตั้งอีสท์วอเตอร์เพื่อบริหารจัดการน้ำ ซึ่งตอนนั้น มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ และ มีการลงนามในสัญญาที่จะหมดปีหน้า (โครงการที่ 1)

 

ต่อมาในปี 2539 บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทุน ทำให้พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และได้มีการเสนอโครงการขึ้นมาใหม่ คือ เส้นหนองท้อ และ หนองปลาไหล เพื่อจะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย แต่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน จึงได้เสนอ ครม. เพื่อขอยกเว้นการประมูลเพื่อให้บริษัทเดินโครงการต่อ ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ โดยให้ส่วนราชการดำเนินการต่อตามกฎหมาย

 

ต่อมา เมื่อเสนอเข้า พ.ร.บ. ร่วมทุน ก็มีข้อสังเกตจาก ครม. ว่า ให้พิจารณาด้วยว่า การให้เอกชนรายเดียว จะขัดต่อนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า อีสท์วอเตอร์ได้รับความคุ้มครองโดยมติ ครม.หรือไม่ ตนไม่เห็นว่า จะมีคำตอบที่ชัดเจนที่มีข้ออ้างกันว่าจะหมดสัญญาปี 2570 นั้น

 

“ต้องไล่มติ ครม.ทุกฉบับว่า เจตนาที่แท้จริงคืออะไร และผมก็เรียนว่า มติ ครม.นั้น มีอยู่ 3 อย่าง คือ 1.มติ ครม.ที่เป็นนโยบาย 2. มติ ครม. ที่มีสถานะคำสั่งทางปกครอง และ 3. มติ ครม. ที่มีสถานะเป็นกฎ เรามาดูไล่เลียงแล้ว เป็นมติ ครม. เชิงนโยบาย เพราะว่า ไม่มีสถานะเป็นกฎหรือคำสั่ง ถ้ามีสถานะดังกล่าวจะต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมาย” นายประภาศ กล่าว