สรส.ร้องนายกฯจัดการ "ประมูลระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก"ให้โปร่งใสเป็นธรรม

09 มี.ค. 2565 | 11:26 น.

สรส.ร้องนายกฯ ขอให้เร่งหาแนวทางจัดการเรื่องการประมูลระบบท่อส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และกรณีตามสัญญาโครงการปทุมธานี-รังสิต ให้โปร่งใสเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชน

ที่ศูนย์รับเรื่องราวรองทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (9 มี.ค.65) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยื่นหนังสือ เรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งหาแนวทางจัดการเรื่องการประมูลระบบท่อส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และกรณีตามสัญญาโครงการ ปทุมธานี-รังสิต ให้โปร่งใสเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชน

 

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เปิดผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2535 รัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก (Eastern Sea Board) เพื่อสบับสนุนให้เกิดการลงทุน และการพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเพื่อให้มีระบบสารารณูปโภคชั้นพื้นฐานที่ดี มีมาตรฐานของระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

รัฐบาลจึงมีมติครม. ปี 2535 ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดตั้งบริษัทจำกัดขึ้นมาเพื่อดำเนินการในภารกิจดังกล่าวตลอดจนการโอนสิทธิในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่อน้ำจากกรมธนารักษ์กระทรวงการคลัง และอื่นๆ ไปให้บริษัทดูแลเพื่อบริหารจัดการอย่างเต็มระบบ

 

โดยต่อมาก็คือบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก EASTW หรือ อีสท์ วอเตอร์ ในตอนแรก การประปาส่วนภูมิภาค ถือหุ้นทั้งหมด 100 เปอร์เซ็น ในตอนแรก และต่อมามีการขายหุ้นออกไป ปัจจุบัน กปภ. ถือหุ้นอีสท์ วอเตอร์ อยู่ 40%

เลขาธิการ สรส. เปิดเผยด้วยว่า สัญญาการบริหารจัดการน้ำและท่อส่งน้ำระหว่าง บริษัท อีสท์ วอเตอร์ กับ กรมกรมธนารักษ์ จะสิ้นสุดลงในปี 2566 กรมธนารักษ์ จึงได้จัดให้มีการประมูลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าว ใหม่

 

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2564 กรมธนารักษ์ เปิดประมูลครั้งแรก ปรากฏว่า บริษัท อีสท์ วอเตอร์ ให้ประโยชน์ต่อรัฐสูงสุด เป็นผู้ชนะการประมูล แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2564 กรมธนารักษ์ ได้ประกาศยกเลิกการประมูลในครั้งแรก โดยอ้างว่าข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างเอกสารกำหนดชอบเขตของงาน (TOR) ไม่ถูกต้อง และกรมธนารักษ์ ได้เปิดประมูลรอบใหม่ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2564 และวันที่ 30 ก.ย.2564 ได้มีการประกาศผลการประมูล ปรากฎว่า บริษัท วงษ์สยามการก่อสร้าง จำกัด ให้ประโยชน์แก่รัฐสูงสุด เป็นผู้ชนะการประมูล


นายสาวิทย์ เปิดเผยด้วยว่า กรณีนี้เองทำให้เกิดข้อพิพาททางการปกครอง ระหว่างอิสท์ วอเตอร์ ผู้ฟ้อง กับกรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้อง เพื่อขอคุ้มครองในฐานะ อิสท์ วอเตอร์ ชนะการประมูลในรอบแรก ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง


ต่อมา กรมธนารักษ์ ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2565 โดยคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เป็นประธาน มีมติ 6 ต่อ 4 ให้ชะลอการพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่ง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ชนะการประมูลในครั้งที่ 2 โดยเสียงส่วนใหญ่ 6 เสียง เห็นว่าให้รอคำพิพากษาศาลปกครองกลางก่อน


แต่ก็ยังมีความเคลื่อนไหวของบุคคลบางกลุ่มพยายามที่จะให้กรมธนารักษ์ เรียกประชุมคณะกรรมการที่ราชพัะสดุ เพื่อทบทวนผลการลงมติดังกล่าว 


ดังนั้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2523 ปัจจุบันมีองค์กรสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจ เอกชน และลูกจ้างภาครัฐ จำนวน 41 สหภาพ

                                           สรส.ร้องนายกฯจัดการ "ประมูลระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก"ให้โปร่งใสเป็นธรรม

นายสาวิทย์ เปิดเผยว่า สรส. มีเป้าหมายที่สำคัญที่ กำหนดไว้ในธรรมนูญ และนโยบาย คือ ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการทุจริตคอร์รัปชั่น จากกรณีดังกล่าว จึงมีความเห็นและมีข้อเสนอต่อรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้


1. เห็นว่าการประมูลคัดเลือกโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ที่พิพาทอยู่ในศาลปกครอง ขณะนี้นั้น หากย้อนกลับไปในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2534 ภารกิจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกตามนโยบายของรัฐบาล ที่มอบให้การประปาส่วนภูมิภาค ตั้งบริษัทจำกัดขึ้นมา และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และได้พัฒนาระบบ และโครงข่ายเชื่อมต่ออย่างเป็นมาตรฐานจนถึงปัจจุบัน และ กปภ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งที่สุดแล้วความมั่นคง ผลประโยชน์ต่างๆ ย่อมตกแก่รัฐ จึงเห็นว่าภารกิจ ควรจะต้องเป็นสิทธิของรัฐโดยการประปาส่วนภูมิภาคให้ดำเนินการตามภารกิจต่อไป


2. กรมธนารักษ์ ได้สั่งการการยกเลิกการประมูลครั้งแรกไปโดยอ้างว่า TOR ไม่ถูกต้องนั้น ซึ่งความจริงแล้วกระบวนการร่างจนประกาศออกไป ถือว่าผู้ประมูลทั้งหลายต้องมีกระบวนการกลั่นกรองจากหน่วยงานต่งๆ จากกรมธนารักษ์ จากสำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ดังนั้น หากกรมธนารักษ์ทำถูกต้องครบกำหนด หรือเขียน TOR ใหม่ก่อนประมูล แต่กรณีดังกล่าวกรมธนารักษ์ ปล่อยให้มีการประมูล จนทราบผลว่าใครชนะการประมูลแล้วมีการยกเลิกแล้วเปิดประมูลใหม่ จนได้ผู้ประกอบการรายใหม่เป็นบริษัทเอกชน จนเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ชนะการประมูลครั้งแรก คือ บริษัท อีสท์ วอเตอร์ กับกรมธนารักษ์ และผู้ชนะการประมูลรายใหม่ที่รอประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ยังทำไม่ได้

                                            สรส.ร้องนายกฯจัดการ "ประมูลระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก"ให้โปร่งใสเป็นธรรม

เนื่องจาก บริษัท อีสท์ วอเตอร์ ฟ้องศาลปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าอาจจะเกิดความเสียหายต่อรัฐจากการฟ้องเรียกค่าเสียหายของบริษัทเอกชนต่อรัฐได้ หรือที่สังคมรับทราบกันว่า "ค่าโง่"
รวมถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการร่วมลงทุนกับเอกชนเพื่อผลิตน้ำประปา ตามสัญญาโครงการ ปทุมธานี-รังสิต เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2539 และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญา 25 ปี จะต้องโอนทรัพย์สินนั้นให้เป็นของการประปาส่วนภูมิภาคทันที 

 

ต่อมา บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ได้มีหนังสือเสนอเงื่อนไขในการต่อสัญญาโครงการ ปทุมธานี-รังสิต ทางการประปาส่วนภูมิภาค จึงได้ดำเนินการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความคุ้มค่าในการเสนอผลประโยชน์ในครั้งนี้ ผลสรุปได้ว่าให้การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการเองคุ้มค่าที่สุด จนถึงปัจจุบันการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่เป็นอันยุติ จนเกิดข้อสงสัยในหลายประการถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินการ และการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะสูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน

 

ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ต่อไป และ สรส. ยืนยันว่าภารกิจในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการต้องกำหนดให้เป็นภารกิจของรัฐสืบต่อไป