ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ 32.48 บาท/ดอลลาร์

03 มี.ค. 2565 | 00:59 น.

ค่าเงินบาทมีปัจจัยหนุนเข้ามาใหม่ คือ การที่ทางการจีนอาจเริ่มปรับแผนการรับมือการระบาดโอมิครอน หรือ ปรับแผนการใช้มาตรการ Zero COVID ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.48 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.70 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า  เงินบาทได้มีปัจจัยหนุนเข้ามาใหม่ คือ การที่ทางการจีนอาจเริ่มปรับแผนการรับมือการระบาดโอมิครอน หรือ ปรับแผนการใช้มาตรการ Zero COVID ซึ่งอาจทำให้ ทางการจีนสามารถเริ่มทดลองการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงการเจรจา Travel Bubble กับประเทศไทยในเร็วนี้ โดยปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรามองว่า ภาวะตลาดเริ่มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ก็อาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ โดยปัจจัยหนุนค่าเงินบาทยังคงเป็นฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี สภาวะสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอาจกดดันให้ตลาดพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักได้ทุกเมื่อ ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะทำให้เงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างกว่าช่วงปกติได้ โดยเราคงมอง แนวต้านสำคัญของเงินบาทอยู่ใกล้โซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 32.20-32.40 บาทต่อดอลลาร์  

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.60 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินพลิกกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง หลังประธานเฟด Jerome Powell ได้ออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งแรกในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ 0.25% ทำให้ตลาดคลายความกังวลโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% ลง นอกจากนี้ ประธานเฟดยังระบุว่า เฟดยังคงคาดหวังว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในปีนี้และปัญหาด้าน supply chain จะค่อยๆ ผ่อนคลายลง ทำให้เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ได้

 

อย่างไรก็ดี ประธานเฟดระบุว่า เฟดก็พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.25% หรือขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้ง หากเงินเฟ้อยังเร่งตัวสูงขึ้นมากกว่าคาด ทั้งนี้ เฟดประเมินว่า ผลกระทบจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเฟดจะติดตามสถานการณ์และผลกระทยอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวของประธานเฟดได้ทำให้ ผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดจำนวนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดลง จากเดิมที่เคยปรระเมินว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 7-8 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ ทำให้ในฝั่งสหัฐฯ ดัชนีหุ้น S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +1.86% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +1.62%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป แม้จะผันผวนหนักในช่วงแรก แต่ก็สามารถรีบาวด์และปิดตลาด +1.50% โดนได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานที่สอดคล้องกับทิศทางของราคาสินค้าพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากภาวะสงคราม อาทิ Totel Energies +8.2% 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มการเงินที่เผชิญแรงขายอันหนักหน่วงก่อนหน้า ING +4.5%, Santander +3.5% อย่างไรก็ดีเรายังคงมองว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนต่อไปในระยะสั้น และนักลงทุนอาจชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรป หากมีการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม หลังสถานการณ์สงครามอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากรัสเซียได้ทุ่มกำลังเข้าโจมตีเพื่อชนะศึกในระยะสั้นและสร้างความได้เปรียบในการเจรจา จนอาจทำให้ก่อความเสียหายที่รุนแรง

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและภาวะตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 10 bps แตะระดับ 1.84% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี จะกลับมาปรับตัวขึ้นได้ หากเฟดยังเดินหน้าการขึ้นดอกเบี้ยและมองว่าผลกระทบจากสงครามต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีไม่มากนัก

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวน ก่อนที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดทยอยกล้าเปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ผู้เล่นบางส่วนก็มองว่าเฟดอาจจะไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้งเท่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ถึง 7-8 ครั้งในปีนี้ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 97.36 จุด ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ  1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์  แต่จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่ได้เทขายทองคำรุนแรง เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือทองคำเพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตจากสถานการณ์สงคราม อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอทยอยขายทำกำไรราคาทองคำได้ หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านก่อนหน้าในช่วง 1,950-1,975 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำอาจพอช่วยให้เงินบาทไม่อ่อนค่าไปมากได้ในระยะสั้นนี้

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาความรุนแรงของสงครามรัสเซีย-ยูเครนและท่าทีของฝั่งตะวันตกต่อการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม หลังรัสเซียได้ทุ่มกำลังในการบุกโจมตีหนักขึ้นเพื่อเอาชนะยูเครนให้ได้ในสัปดาห์นี้ ทำให้เกิดภาพความสูญเสียต่อชีวิตพลเรือนมากขึ้น ซึ่งเราคงมองว่า ความเสี่ยงสงครามจะยังคงสามารถกดดันให้ตลาดการเงินกลับมาผันผวนในระยะสั้นได้

 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากสถานการณ์สงคราม ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงการแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาของประธานเฟด เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต หลังเกิดภาวะสงครามรัสเซียกับยูเครนขึ้น

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.69 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนน้อยลง หลังจากประธานเฟดระบุว่า จะเริ่มวงจรการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อย่างระมัดระวัง โดยเขามีท่าทีสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ย 25 bps. ในเดือนมี.ค. นี้

 

แต่ก็ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่จะขยับขึ้นมากกว่า 25 bps. หากข้อมูลเงินเฟ้อที่รายงานในช่วงไม่กี่วันข้างหน้าออกมาสูงกว่าที่คาด อย่างไรก็ดีการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอจับตาสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในยูเครนอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 32.45-32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็น/สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิดในประเทศ ถ้อยแถลงของประธานเฟด รายงาน Beige Book จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการ และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ