คลัง แจงเหตุลดภาษีน้ำมันดีเซล ช่วยกองทุนน้ำมัน ขาดสภาพคล่อง-กู้เงินไม่ได้

15 ก.พ. 2565 | 08:22 น.

“อาคม” เผยเหตุลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร 3 เดือน เพื่อช่วยกองทุนน้ำมัน หลังมีปัญหาขาดสภาพคล่องและยังกู้เงินไม่ได้ เพราะติดปัญหาทางบัญชี ด้าน “สันติ” ยัน ลดภาษีดีเซล ไม่มีแรงกดดันทางการเมือง แต่เพื่อช่วยประชาชน ห่วงราคาสินค้าปรับขึ้นแล้วปรับลงยาก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง สำหรับเนื้อน้ำมันดีเซล 100% สูงสุดที่ 3 บาทต่อลิตร และปรับลดหลั่นตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันที่ผสม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้รัฐให้ลดลงประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท หรือ เฉลี่ย 5.7 พันล้านบาทต่อเดือน ซึ่งขั้นตอนจากนี้กรมสรรพสามิตจะไปร่างประกาศ เพื่อลงในราชกิจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ เนื่องจากขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ ยังไม่สามารถดำเนินการกู้เงินได้ แม้ มติ ครม. จะเห็นชอบให้กองทุนสามารถกู้เงินเพิ่มได้ไม่เกิน 30,000 ล้านบาทก็ตาม แต่เนื่องจากยังติดขั้นตอนในเรื่องของงบการเงิน หลังเปลี่ยนสถานะจากนิติบุคคลของกระทรวงพลังงาน เป็นองค์การมหาชน ทำให้ระบบบัญชียังไม่ได้รับการรับรอง โดยคาดกองทุนฯ จะเริ่มกู้เงินได้เดือนมีนาคมนี้

 

“สาเหตุที่ต้องลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จากที่เคยประกาศว่าจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะขณะนี้กองทุนน้ำมันขาดสภาพคล่อง และยังไม่สามารถกู้เงินได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระบบบัญชี ซึ่งคาดว่ากองทุนฯ จะเริ่มกู้เงินได้ช่วงเดือนมีนาคมนี้ ดังนั้นจึงต้องปรับลดภาษีช่วย เพราะนโยบายของกระทรวงพลังงานคือการตรึงราคาน้ำมันดีเซลจนถึงเดือน พ.ค. นี้ ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งคาดการณ์จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบของโลก และปัญหาระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ส่วนรายได้จากภาษีที่หายไปนั้น เชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะมีรายได้กลับเข้ามาชดเชยในส่วนที่ต้องสูญเสียไป” นายอาคม กล่าว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ ไม่มีแรงกดดันทางการเมืองอย่างแน่นอน แต่ปรับลดเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะหากราคาสินค้าปรับขึ้นแล้ว จะปรับลดลงยาก ส่วนการปรับลดในอัตราสูงสุดที่ 3 บาทต่อลิตรเป็นระยะเวลา 3 เดือนนั้น เนื่องจากราคาน้ำมันยังมีความอ่อนไหว และสถานการณ์โลกยังมีปัญหา จึงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด