ศาลอุทธรณ์สั่งอดีตผู้บริหาร IFEC จ่ายค่าปรับ 1 ล้านบาท

12 พ.ย. 2564 | 11:09 น.

ก.ล.ต.เผย ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลแพ่ง โทษสูงสุด สั่ง"ศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์" อดีตผู้บริหาร IFEC จ่ายค่าปรับ 1 ล้านบาท เหตุไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ พร้อมชดใช้ค่าใช้จ่ายของโจทก์อีก 110,042 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)แจ้งว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแพ่ง ให้นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ อดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC)ชำระค่าปรับทางแพ่ง 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นโทษสูงสุดตามกฎหมาย 


พร้อมทั้งห้ามจำเลยเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันทราบคำพิพากษา ห้ามจำเลยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันทราบคำพิพากษา 

นอกจากนั้นยังให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายของโจทก์ เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเงินจำนวน 110,042 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กฎหมายกำหนด นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ ก.ล.ต. โจทก์ ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์


ทั้งนี้ ก.ล.ต. โดยคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง(ค.ม.พ.) มีมติให้นํามาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายศุภนันท์ ซึ่งในขณะกระทำความผิดเป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ IFEC กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริตตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์

พร้อมให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด แต่นายศุภนันท์ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งดังกล่าว ดังน้ันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนายศุภนันท์ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 3192/2562 ซึ่งเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ. 4741/2563 โดยให้จำเลยชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงินจำนวน 3 แสนบาท คำขออื่นให้ยก

 

นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เปิดเผยว่า คดีนี้เป็นกรณีกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ที่ดำเนินคดีโดยใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 

 

"หากจําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา ก.ล.ต. จะดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป  โดยเงินค่าปรับทางแพ่งเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง"นายศักรินทร์กล่าว