‘อากู๋’ มอบมรดกให้ลูก ผ่านโอนหุ้น GRAMMY

21 ต.ค. 2564 | 09:24 น.

วิจารณ์ยับ “อากู๋” ปรับโครงสร้างการถือหุ้นครอบครัว “ดำรงชัยธรรม” ใน GRAMMY เลี่ยงเสียภาษีมรดกหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญชี้ มหาเศรษฐีเมืองไทยทำกันอื้อ เหตุช่องทางเปิด เป็นการบริหารการรับมรดกทางหนึ่ง โบรกชี้เป็นผลดีต่อบริษัท

การปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายในสมาชิกครอบครัว ดำรงชัยธรรม ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)หรือ GRAMMY ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการยกมรดกให้ลูก โดยไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกหรือไม่ หลังจากได้โอนหุ้นที่กลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าวถืออยู่ทั้งหมดให้กับ บริษัท ฟ้าดำรงชัยธรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท โฮลดิ้ง ที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน

‘อากู๋’ มอบมรดกให้ลูก ผ่านโอนหุ้น GRAMMY

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่า เป็นเรื่องปกติของมหาเศรษฐีเมืองไทย ที่จะใช้ช่องทางการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ในการโอนทรัพย์สินให้กับทายาท เพระได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว และกรณีตระกูลดำรงชัยธรรมไม่ใช่กรณีแรก เพราะทำลักษณะเดียวกันนี้มาหลายรายหลังปี 2558 ที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดกมีผลบังคับใช้ แต่จะบอกว่าเลี่ยงภาษีมรดกโดยตรงไม่ได้ เพราะยังไม่มีฝ่ายใดเสียชีวิต เป็นเพียงการบริหารจัดการมรดกทางหนึ่งให้กับลูกหลาน

ขณะที่นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ออกมายอมรับว่า การปรับโครงสร้างการถือหุ้นภายในครอบครัวครั้งนี้ เป็นการปรับโครงสร้างแบบมอบมรดกให้กับบุตรผ่านบริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม โดยบุตรทั้ง 4 คน จะมีสัดส่วนการถือหุ้นและสิทธิในการออกเสียงเท่าๆ กัน รวมทั้งจะมีกฎกติกาหรือ ธรรมนูญครอบครัว เพื่อป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและบุตรทั้ง 4 คน จะแบ่งหน้าที่ในการบริหารงานใน GRAMMY อย่างชัดเจน 

 

นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

 

รายงานข่าวจากกรมสรรพากรพบว่า ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดก แต่ละราย ที่ได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดก หากเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทในอัตราคงที่ 10% แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน จะเสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่ามรดกสุทธิที่ต้องเสียภาษี

ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีคือ อสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ 4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียนและทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

 

ส่วนการยกเว้นภาษีการรับมรดก ในกรณีที่ผู้ได้รับมรดกที่เจ้าของแสดงเจตนาให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน และ มรดกที่ไม่จดทะเบียนจะไม่เสียภาษี เช่น ทองคำ เพชร พลอย พระเครื่อง เป็นต้น

 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับโครงสร้างของกลุ่มดำรงชัยธรรมในหุ้น GRAMMY นั้น เป็นเรื่องปกติของตระกูลใหญ่ในการควบคุมอำนาจบริหารบริษัท เพราะหากมีปัญหาหรือความเห็นไม่ตรงกันภายในครอบครัว จะเกิดการขายหุ้นให้บุคคลที่ 3 ถ้าเป็นการถือหุ้นในนามของบุคคล แต่หากรวมหุ้นในครอบครัวเป็นโฮลดิ้ง จะทำให้หุ้นยังกระจายอยู่ในบริษัท โฮลดิ้ง แม้สัดส่วนอาจจะเปลี่ยนไป หรือเปลี่ยนคนถือหุ้นเป็นลูกหลาน แต่อำนาจการบริหารงานในบริษัทยังคงอยู่

 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)

 

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างดังกล่าว ไม่มีผลกระทบกับราคาหุ้นให้ปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลง เพราะเป็นการจัดสรรหุ้นภายในกลุ่ม ไม่มีผลต่อสัดส่วนการถือหุ้นและการบริหาร และมองว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นภาษี เนื่องจากการซื้อขายหุ้นลักษณะเป็นรายบุคคลสามารถเลี่ยงภาษีได้ง่ายกว่าการเป็นนิติบุคคล ซึ่งการปรับโครงสร้างครั้งนี้ เป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่ากลุ่มดำรงชัยธรรมจะมีอำนาจควบคุม GRAMMY ตลอดไปแน่นอน หากไม่มีการขายหุ้นของบริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำกัดออกมาในอนาคต

 

“ถือเป็นเรื่องปกติของตระกูลใหญ่ที่จะควบคุมอำนาจในบริษัท เห็นได้จากตระกูลจิราธิวัฒน์ หรือ สิริวัฒนภักดี เพราะในอนาคต หากมีลูกหลานเพิ่มขึ้น จะต้องมีการกระจายหุ้นเพิ่ม หรือเปลี่ยนผ่านไปรุ่น 2-3 ต่อไปเรื่อยๆ แต่ยังอยู่ในบริษัทโฮลดิ้ง ทำให้อำนาจบริหารไม่ตกไปเป็นของผู้อื่น อย่าง BEC ที่ตอนนี้อำนาจของตระกูลมาลีนนท์ลดลงเรื่อยๆ จากการขายหุ้นบุคคลของคนในครอบครัว ซึ่งการเป็นโฮลดิ้ง จะช่วยส่งต่อธุรกิจในครอบครัวได้ง่ายขึ้น แม้จะมีการกระจายหุ้นก็ตาม” นายกิจพณ กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,724 วันที่ 21 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564