รถมือสองบูม สร้างอาชีพใหม่ ค้าขายริมทาง

23 ส.ค. 2564 | 07:09 น.

3 ปัจจัย “เศรษฐกิจแผ่ว -คนตกงาน-รักษาระยะห่าง” หนุนตลาดรถมือสองโตสวนตลาดรถใหม่ ผลล็อกดาวน์สร้างอาชีพใหม่ขายผลไม้บนรถริมทาง ด้านแอพเพิล ออโต้ ออคชั่นไทยแลนด์เล็งเปิดอีก 2 สาขารองรับรถยึดภาคใต้-อีสาน

นายภิญโญ ธนวัชรกรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง ทำให้ตลาดรถยนต์ใช้แล้ว ได้รับความสนใจเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น เพราะยังมีกำลังซื้อที่ต้องการรักษาความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะคนที่เคยใช้รถสาธารณะ ประกอบกับผู้ซื้อต้องการประหยัดเงิน จึงหันมาซื้อรถยนต์ใช้แล้ว ทำให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่ยังอยู่ได้และสวนทางกับตลาดรถใหม่หรือรถป้ายแดง

ภิญโญ ธนวัชรกรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดรถยนต์ใช้แล้วปีนี้ มีแนวโน้มที่ยอดขายรถยนต์จะปรับลดลง 15-20% จากปีก่อนที่ปรับลด 10% ปัจจัยหลักมาจากการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ ประกอบกับการบริหารงานของรัฐในการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ยอดผู้ติดเชื้อยังสูง ทำให้ภาคธุรกิจขาดความเชื่อมั่น รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่ฟื้น

 

“ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แบบนี้เทียบอุตสาหกรรมอื่นแล้ว รถยนต์มือสองเรายังอยู่ได้ เพราะคนไม่กล้าใช้รถสาธารณะ กลัวติดเชื้อแล้วไม่มีโรงพยาบาลรักษา และมีกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่คือ กลุ่มไม่มีประวัติเครดิตบูโร เหล่านี้หันมาซื้อรถมือสองมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นคนตกงานเริ่มสร้างอาชีพใหม่ ด้วยการซื้อรถมือสองมาทำการค้าขาย โดยจะเห็นว่ามีรถขายผลไม้ริมทางบ้าง หรือรถพ่วงบ้าง”นายภิญโญกล่าว

ด้านสถานการณ์ราคารถมือสองนั้น ลูกค้าส่วนใหญ่จะมีความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนอยู่ที่ 5,000-7,000 บาท ซึ่งจะเป็นประเภทรถอีโคคาร์อายุ 10 ปี ราคาเฉลี่ย 2-3 แสนบาทต่อคัน โดยราคายังไม่ปรับลดลง แต่ราคาถูกกว่าซื้อรถป้ายแดง 40% เช่น กระบะราคาป้ายแดง 5-6 แสนบาท แต่ระยะหลังพบว่า ลูกค้าใหม่ที่ไม่มีประวัติเครดิตบูโร ถูกสถาบันการเงินปฏิเสธให้สินเชื่อกว่าครึ่ง ( Reject ประมาณ 50%) โดยสังเกตุจากสัดส่วนการซื้อเงินสดและผ่อนชำระใกล้เคียงกัน

 

ขณะที่กลุ่มที่ไม่มีประวัติเครดิตบูโร ไฟแนนซ์และธนาคารค่อนข้างคัดกรองคุณภาพลูกค้ามาก ทำให้ต้องวางเงินดาวน์ 20-30% ของราคารถยนต์มือสอง เช่น ราคา 3 แสนบาทลูกค้าต้องวางเงินดาวน์ 60,000-90,000 บาท ขึ้นอยู่กับเครดิตของลูกค้าแต่ละราย นอกจากที่ใช้บุคคลค้ำประกัน

 

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มแอพเพิล จากประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า ตลาดรถมือสองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มาก หากเทีบกับธุรกิจอื่น เพราะคนยังมีความต้องการซื้อ

อนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์)

 

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์รอบสอง กรมการขนส่งปิดให้บริการ ส่งผลกระทบคนซื้อโอนรถไม่ได้ (ผู้ซื้อจ่ายเงินสดให้เต็นซ์รถยนต์ไม่ได้ เพราะไฟแนนซ์ยังไม่ปล่อยสินเชื่อ) ทำให้กระทบกันเป็นลูกโซ่ แต่ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีความต้องการซื้อรถมือสองยังมีอยู่ แต่ด้วยปัจจัยไม่เอื้อในหลายมิติ รวมถึงลูกค้าที่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์วิกฤติ ทำให้ยอดขายลดลง 5-10%

 

“การแข่งขันด้านราคาตลาดรถยนต์มือสอง ตอนนี้ไม่รุนแรง เพราะทั้งประชาชนและเต็นซ์ไม่มั่นใจภาวะวิกฤติ ขณะที่ซัพพลายน้อยจากการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็ยังพอมีให้เลือกได้ ราคาปรับขึ้นตอนต้นปี 2-3% แต่ราคาขายจะมีตั้งแต่ราคาหลักหมื่นบาทอายุ 15 ปี จึงขึ้นกับอายุของรถเฉลี่ยราคา 2.5-1 ล้านบาทขึ้นไป แต่รถพรีเมียมหรือรถหรู เช่น บริษัทรถเช่า บริการลูกค้าวีไอพี หรือรถประจำตำแหน่ง พวกนี้เขาจะคืนรถ แล้วหนี้ส่วนที่เหลือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทำให้รถถูกยึดน้อยลง จากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)”นายอนุชาติ กล่าว

 

สำหรับตลาดการประมูล ปัจจุบันประมูลออนไลน์ 100% ลูกค้าจะเข้ามาลานประมูล เพื่อดูสภาพรถเท่านั้น เมื่อถึงวันประมูลลูกค้าจะประมูลผ่านโทรศัพท์และออนไลน์ แต่ก็มีลูกค้าเข้ามาประปราย จากภาวะปกติคน 70-100 คน ส่วนจำนวนรถยึดนั้น ถ้าเทียบหลังคลายล็อกดาวน์รอบสอง รถยึดเริ่มเข้ามาเดือนม.ค.-มี.ค.64 เพิ่มขึ้น 5-10% แต่ระลอก 3 ซึ่งจะมีผลเดือนมิ.ย.-ก.ค. รถยึดทยอยเข้ามาทรงตัว เพราะการระบาดโควิดรุนแรงและการออกไปยึดรถก็ทำได้ยาก เพราะติดเรื่องข้ามเขตพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งยังต้องรอเวลาอีก 2 เดือน

 

ขณะที่การประมูลรถปีนี้ยังคงดำเนินการได้ โดยมี่ยอดประมูลขายต่อเดือน 3,500 คันลดลง 6-7% จากภาวะปกติที่ 3,800-4,000 คันต่อเดือน ซึ่งบริษัทฯ จะเพิ่มสาขาอีก 2 แห่ง เพื่อรองรับรถยึดในภาคใต้และภาคอีสาน

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,707 วันที่ 22 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2564