แบงก์ผวาหนี้เสีย 2 ล้านล. ถก ธปท.รับมือล็อกดาวน์ยาว

14 ส.ค. 2564 | 05:13 น.

ประธานสมาคมธนาคารไทย หวั่นโควิด ล็อกดาวน์ยาว ฉุดลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ 1.89 ล้านบัญชี วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ตกชั้นเป็นหนี้เสีย กลุ่มเอสเอ็มอีอาการน่าห่วงสุด เตรียมหารือธปท.ออกมาตรการตั้งรับระเบิดเวลาที่พร้อมปะทุ

การระบาดของโควิด-19 ระลอก3 ที่ประทุขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน จนถึงปัจจุบันเข้าสู่เดือนที่ 5  ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันก็ยังไม่ลดลง แถมบางวันยังทำสถิติสูงสุด ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวต ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดทั่วประเทศล่าสุด เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 สะสมเเพียง 21.17 ล้านคน

 

จับตาลูกนี้ 2 ล้านล้าน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สถานการณ์ โควิด-19 ณ ขณะนี้ น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากมาตรการเข้มงวดต่างๆ โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ ที่แม้จะครบ 14 วัน แต่ไม่สามารถชะลอการติดเชื้อได้ ทำให้ภาครัฐต้องขยายเวลาออกไปถึงสิ้นเดือนสิงหาคมและเพิ่มจำนวนจังหวัดมากขึ้น

 

มาตรการในลักษณะนี้ มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงมาก ผู้ประกอบการและแรงงานจำนวนมากในภาคบริการ การท่องเที่ยว การค้า และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนต้องขาดรายได้เป็นเวลานาน

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย

 

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ในเดือนสิงหาคม 2564 จึงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หากยังต้องใช้มาตรการคุมเข้มแบบนี้ ด้วยเหตุที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงไม่สามารถตัดวงจรของการระบาดได้ และยังมีการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หากควบคุมได้ไม่ดี อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งเป็นความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

 

ขณะที่ภาคธุรกิจธนาคาร ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน นอกจากจะเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นและพบการติดเชื้อ จนต้องมีการเปิดๆ ปิดๆ สาขาตามที่ต่างๆมากมายแล้ว ยังมีลูกหนี้ที่อยู่ในการดูแลช่วยเหลือของธนาคารต่างๆ ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มากถึง 1.89 ล้านบัญชี หรือเป็นเงินราว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ อาจกลายเป็นหนี้เสียได้หากเศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลานาน

 

“ทรัพยากรของลูกหนี้ ของผู้ประกอบการได้ถูกนำมาใช้จนหมดสายป่าน บนความหวังที่จะฟื้นระลอกแล้วระลอกเล่า  ซึ่งธนาคารพาณิชย์เอง ทรัพยากรเราก็มีจำกัด และต้องเร่งตั้งสำรองสูง เพื่อเตรียมรองรับกับปัญหาของหนี้เผื่อสงสัยจะสูญ ที่ถาโถมเข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน”นายผยงกล่าว

แบงก์แห่เพิ่มเงินกองทุน

ขณะที่การรับรู้รายได้บางส่วนจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ไม่ได้มีการชำระจริง แต่ต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งที่สุดแล้ว ก็อาจจะต้องกลายเป็นหนี้เสีย แม้ว่าภาคธนาคารที่ดูเหมือนว่า จะแข็งแรงตั้งแต่ฟื้นตัวมาจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 แต่ขณะนี้บางธนาคารก็ต้องมีการเพิ่มกองทุนขั้นที่ 1 ผ่านการออกตราสารทุน AT-1 กันแล้ว เพื่อรองรับกับหน้าผา NPLs  ที่กำลังถาโถมสูงขึ้นอย่างเป็นนัยยะสำคัญจากการซื้อเวลา เพื่อไม่ให้กระทบกับเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

 

นายผยงกล่าวถึงภาพรวมธุรกิจธนาคารในครึ่งหลังปี 2564 ว่า จากสถานการณ์วิฤกตโควิดที่ลากยาว และไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไร ส่งผล กระทบต่อการดำเนินการของภาคธุรกิจธนาคาร ดังนั้น ภาคธนาคาร จึงต้องบริหารจัดการธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

แม้ว่าภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปี 2564 จะแสดงผลการดำเนินงานที่ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่บางส่วนเป็นการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยค้างรับของมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งยังไม่ได้มีการชำระจริงและยังอาจกลายเป็นหนี้เสียได้ ภาคธนาคารจึงยังคงให้ความสำคัญกับการกันสำรองอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต และต้องไม่เกิดผลกระทบกับเสถียรภาพและระบบสถาบันการเงินของประเทศ

หนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์

 

SMEs 18% น่าห่วง

ขณะเดียวกันมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาลและความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่าง เช่น กลุ่ม SMEs ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของสินเชื่อรวม มีสัญญาณการเป็น NPLs เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด และหากอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อาจกระทบกับกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่ไม่ใช่สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 18% ของสินเชื่อรวม

 

“สถานการณ์ความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงที่เกิด NPL Cliff หรือ การตกชั้นหนี้เสียอย่งรวดเร็ว  เป็นความท้าทายของภาคธนาคารในการบริหารจัดการ เหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุตลอดเวลา ซึ่งสมาคมธนาคารไทยจะหารือกับเรื่องนี้กับธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป”นายผยงกล่าว

 

ด้านรายได้ของภาคธนาคาร จากการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่น มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน จะส่งผลให้รายได้ที่มาจากดอกเบี้ยของธนาคารที่จะได้รับลดลงในไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 ขึ้นกับจำนวนลูกค้าที่ขอเข้ามาตรการ และการตั้งสำรองคู่ขนานก็มีความจำเป็น

 

ชี้ปรับหนี้อีกหลายรอบ

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจะทำให้ความต้องการสินเชื่อจากกลุ่มลูกค้าที่ยังพอมีรายได้หรือมีศักยภาพในครึ่งปีหลังเป็นไปอย่างระมัดระวัง แต่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อภาครัฐยังจะคงมีการเติบโต ทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อใกล้เคียงระดับกลางปี

 

ทั้งนี้สมาคมธนาคารไทยได้ประสานกับกระทรวงการคลัง ธปท.และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างรวดเร็ว ทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทั่วไป มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ของธปท. 

 

“โควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่นี้ สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีการจ้างงานสูงและยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราได้ประสานความช่วยเหลือต่อเนื่องและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิ และพร้อมจะออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม เชื่อว่า การปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้หลายราย ก็คงต้องมีการทำกันอีกหลายครั้ง” นายผยงกล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,705 วันที่ 15 - 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564