เทคนิคการวางแผนภาษีให้ได้ประโยชน์สูงสุด

17 มิ.ย. 2564 | 22:05 น.

เทคนิคการวางแผนภาษีให้ได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับมนุษย์เงินเดือน ผู้มีอาชีพอิสระ และผู้ประกอบการ

 

“….in this world nothing can be said to be certain, except death and taxes” — Benjamin Franklin หรือแปลได้ว่า “….ใบโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดที่แน่นอน นอกจากความตาย และภาษี” กรณีการจัดเก็บภาษีโดยรัฐสำหรับประเทศไทยนั้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เพียงแต่จะจัดเก็บจากบุคคลธรรมดาผู้ที่มีรายได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งอีกด้วย (หมายเหตุ : การจัดเก็บภาษีสำหรับผู้มีรายได้ จะไม่คำนึงถึงอายุของผู้มีเงินได้ เนื่องจากคำว่าสภาพบุคคล ในทางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย)

บ่อยครั้งเรามักได้รับคำถามจากบุคคลที่มีรายได้ประจำว่า มีวิธีการอย่างไรที่สามารถประหยัดภาษีได้ หรือ กรณีมีงบประมาณการออมที่จำกัด จะเลือกใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีด้วยทางเลือกใดจะเหมาะสม สำหรับบทความนี้ผู้เขียนมีเทคนิคการวางแผนภาษีมาแบ่งปันให้สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำ ดังนี้

เทคนิคการวางแผนภาษีให้ได้ประโยชน์สูงสุด
 

1) เทคนิคการวางแผนภาษี สำหรับมนุษย์เงินเดือน 

สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำนั้น การจะวางแผนภาษีได้ดี หรือ มีแนวทางใดที่จะประหยัดภาษีได้นั้น ก่อนอื่นควรจะต้องเข้าใจหลักการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาก่อน กล่าวคือ

                                 ภาษีบุคคล = เงินได้สุทธิ คูณ อัตราภาษี (แบบก้าวหน้า ตั้งแต่ร้อยละ 0 – 35 สำหรับปัจจุบัน) 
                                                  (เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน หัก ค่าใช้จ่าย หัก ค่าลดหย่อน)
โดยเมื่อจ่ายเงินได้ บริษัทผู้จ่ายเงินได้ จะทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้มีเงินได้ สามารถนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ไปหักออกจาก จำนวนภาษีเงินได้สิ้นปีที่ต้องเสีย และยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่มีเงินได้ ทั้งนี้ มนุษย์เงินเดือนสามารถพิจารณาวางแผนภาษี ได้ดังนี้

1.    พิจารณาถึงทางเลือกการหักค่าใช้จ่าย เช่น สำหรับเงินได้พึงประเมิน ประเภท 40(5) เช่น ค่าเช่าคอนโด ผู้มีเงินได้สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 30 หรือ อาจเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร (ทั้งนี้จะต้องมีเอกสารประกอบการหักค่าใช้จ่ายตามจริงดังกล่าว) เป็นต้น

2.    พิจารณาใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เช่น การลดหย่อนบุตรและบุพการี ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เบี้ยประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบบำนาญ เบี้ยประกันสุขภาพบุพการี กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ควรพิจาณากระแสเงินสดคงเหลือที่สามารถออมได้จริง กล่าวคือ มีกระแสเงินสดคงเหลือรายปี (รายรับ – รายจ่าย) เพียงพอสำหรับการออม

3.    กรณีที่กระแสเงินสดเหลือไม่พอสำหรับการออม ผู้มีเงินได้ไม่ควรไปกู้ผ่านสินเชื่อส่วนบุคคลต่างๆ เพื่อมาออม เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคล อาจสูงกว่าอัตราภาษีที่ผู้มีเงินได้จะต้องชำระ

4.    ควรศึกษาเงื่อนไขของการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผลิตภัณฑ์การลดหย่อนภาษี กรณีผิดเงื่อนไข ผู้มีเงินได้จะหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษี และยังต้องเสียภาษีสำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมาแล้วด้วย

5.    บริหารภาษีให้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงิน เพื่อเป้าหมายต่างๆ กล่าวคือ กรณีที่ผู้มีเงินได้ ต้องการออมปีละ 600,000 บาทต่อปี สามารถออมผ่านการซื้อ LTF RMF หรือประกัน นอกจากผู้มีเงินได้จะสามารถมีเงินออมเพื่อวางแผนเกษียณ ยังสามารถนำเงินภาษีคืนไปลงทุนต่อได้ด้วย

6.    กรณีเงินได้ประเภทเงินปันผล โดยได้ถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 ไปแล้ว ผู้ได้รับเงินปันผลมีสิทธิเลือกเสียภาษี คือ จะไม่นำเงินปันผลมารวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลประจำปี หรือใช้วิธีเครดิตภาษีเงินปันผล (นำเงินปันผลมารวมคำนวณกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีสำหรับปีและขอเครดิตภาษีเงินปันผล) ทั้งนี้ ผู้ได้รับเงินปันผลควรคำนวณเพื่อเลือกใช้วิธีที่มีภาระภาษีต่ำกว่า 

เช่น กรณีผู้เสียภาษีมีเงินเดือนรวม 1,000,000 บาท และมีรายได้เงินปันผลที่จ่ายจากกำไรจากบริษัทจดทะเบียนที่ได้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ กรณีรายได้เงินปันผลที่ได้รับน้อยกว่า 2,600,000 บาท ผู้เสียภาษีควรเลือกใช้วิธีเครดิตภาษีเงินปันผล ซึ่งจะทำให้เสียภาษีน้อยกว่า เนื่องจาก กรณีไม่นำเงินปันผลมารวมคำนวณ จะต้องเสียภาษีรวม 341,200 บาท (คำนวณจากภาษีจากเงินเดือน 81,200 [1] + ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย 10% เท่ากับ 260,000 บาท) แต่ถ้านำเงินปันผลมารวมและใช้เครดิตภาษี จะมีภาษีรวมเพียง 339,300 บาทเท่านั้น

7.    แจ้งรายละเอียดกับฝ่ายบุคคลของบริษัทผู้จ่ายเงินได้ สำหรับรายการหักลดหย่อนต่างๆ เพื่อลดจำนวนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเมื่อได้รับเงินได้

8.    กรณีที่ผู้มีเงินได้ ถูกหักภาษีไว้ เป็นจำนวนที่มากกว่า ภาษีเงินได้ที่ต้องชำระสำหรับปีนั้น ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถขอคืนภาษีจากทางกรมสรรพากรได้ ผู้มีเงินได้สามารถรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นภาษีโดยเร็ว เพื่อนำเงินภาษีที่ได้รับคืน มาลงทุนต่อให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มเติม

2) เทคนิคการวางแผนภาษี สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ 

กรณีผู้มีอาชีพอิสระ ผู้ว่าจ้างที่เป็นผู้จ่ายเงินได้จะหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ โดยภาษีที่ถูกหักไว้ดังกล่าว ผู้มีอาชีพอิสระสามารถนำมาหักออกจากภาษีเงินได้สิ้นปีที่ต้องเสีย ทางผู้เขียนมีเทคนิคการบริหารภาษีและการเงินที่ผู้มีอาชีพอิสระเพิ่มเติม ดังนี้

1.    ทำประมาณการเงินได้สุทธิและประมาณการกระแสเงินสดรับจ่าย ทั้งนี้เพื่อบริหารกระแสเงินสดให้มีสภาพคล่องที่เหมาะสมในระหว่างปี รวมถึงคำนวณเงินที่จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เหมาะสม

2.    สำรองเงินกรณีที่มีภาษีที่ต้องชำระสำหรับปีภาษี มากกว่าจำนวนถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการกู้ยืมเพื่อมาชำระภาษี

3.    พิจารณารูปแบบการประกอบธุรกิจ เช่น กรณีที่เงินได้สุทธิเกิน 5 ล้านอาจพิจารณาจดทะเบียนเป็นบริษัท ซึ่งอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 20 และกรณีมีรายรับจากการให้บริการเกิน 1,800,000 บาท จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม

3) เทคนิคการวางแผนภาษี สำหรับผู้ประกอบการ 

กรณีประกอบการในรูปบริษัท ซึ่งจะเสียภาษีจากกำไรสุทธิทางภาษี (คำนวณจาก รายได้ หัก ค่าใช้จ่าย) คูณอัตราภาษีร้อยละ 20 (หากเป็นบริษัทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อัตราภาษีจะลดลง โดยเป็นอัตราก้าวหน้า กล่าวคือ ยกเว้นกำไรสุทธิ 300,000 แรก ส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท จะเสียภาษีร้อยละ 15 และเสียภาษีร้อยละ 20 สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 3,000,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาวางแผนภาษีและการบริหารการเงิน ได้ดังนี้

1.    พิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ หากเข้าเป็นกิจการเป้าหมาย สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

2.    พิจารณาการหักค่าใช้จ่ายที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าปกติ เช่น รายจ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การจ้างผู้สูงอายุ จ้างคนพิการ จ้างนักศึกษาทำบัญชี เป็นต้น

3.    การซื้อทรัพย์สิน หรือการเช่าทรัพย์สิน เนื่องจากการซื้อทรัพย์สิน บริษัทจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ในรูปค่าเสื่อมราคา เช่น ตัดเป็นรายจ่าย 5 ปี เป็นต้น ทางบริษัทสามารถพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างการหักค่าใช้จ่ายในรูปค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน หรือ ค่าเช่า กรณีเช่าทรัพย์สิน เป็นต้น

4.    การตั้งเงินเดือนกรรมการในระดับที่เหมาะสม จากการให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการ บ่อยครั้งที่พบว่า มีการตั้งเงินเดือนสำหรับกรรมการในอัตราที่ไม่เหมาะสม เช่น ตั้งเงินเดือนกรรมการต่ำเกินไป ส่งผลให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทมากขึ้น เป็นต้น
กรณีเงินเดือนกรรมการ บริษัทสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้ ในขณะที่กรรมการ สามารถนำเงินได้นั้นมาเสียภาษีบุคคลธรรมดา โดยใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีต่างๆได้ ดังนั้น ทางผู้ประกอบการจึงควรพิจารณากำหนดระดับเงินเดือนที่เหมาะสม

5.    การแยกบัญชีส่วนตัวกรรมการออกจากบัญชีของบริษัท บ่อยครั้งที่พบว่าจากการที่บริษัทไม่ตั้งเงินเดือนกรรมการ หรือตั้งในระดับที่ต่ำเกินไป ทำให้กรรมการดึงเงินจากบริษัทออกไป โดยที่ไม่มีเอกสารประกอบการจ่ายที่เหมาะสม ดังนั้น กรณีที่ไม่มีเอกสารประกอบการจ่าย รายจ่ายดังกล่าวไม่สามารถถือเป็นรายจ่ายทางภาษี ส่งผลให้บริษัทต้องเสียภาษีมากขึ้น

การแยกบัญชีกรรมการออกจากบัญชีบริษัท นอกจากจะไม่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านบัญชีและภาษีสรรพากรแล้ว ทางผู้ประกอบการ สามารถนำเงินเดือนและค่าตอบแทนจากบริษัท มาวางแผนการเงินส่วนบุคคลสำหรับเป้าหมายสำหรับตนเองและครอบครัวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยสรุป ภาษีถือเป็นส่วนหนึ่งของรายจ่าย ไม่ว่าเราจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการ หากว่าเรามีการวางแผนภาษีด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมและถูกกฎหมาย เพื่อให้ประหยัดภาษีได้สูงสุด เราก็จะมีเงินออมมากขึ้น เมื่อมีเงินออมมากขึ้น ก็สามารถนำเงินออมมาบริหารลงทุนให้ได้ดอกผลเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เราสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้นนั่นเอง

[1] หมายเหตุ : การคำนวณภาษีสำหรับเงินเดือน 1,000,000 บาท มีการหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวตามกฎหมาย 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท
 

บทความโดย : รัตนาวดี อนุสรณ์วงค์ชัย นักวางแผนการเงิน CFP®

                   สมาคมนักวางแผนการเงินไทย www.tfpa.or.th