Supply Chain Collaboration “ความร่วมมือ คือ ความสำเร็จ” (ตอนที่ 2)

31 ม.ค. 2564 | 02:15 น.

ฉบับที่แล้ว (ตอนที่ 1 ลงวันที่ 17-19 ธันวาคม 2563) ผมได้เล่าถึงลักษณะ Supply Chain ของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ว่า รูปแบบ Supply Chain ของแต่ละประเทศเหมาะกับภาคธุรกิจใด

ฉบับนี้ ผมจะเล่าต่อว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ Supply Chain ของกลุ่มธุรกิจประสบความสำเร็จ โดยยกกรณีศึกษาที่รวบรวมจากงานศึกษาของ Lihua, Yi Lu and Rui Zhao(2019) พร้อมจะสรุปข้อเสนอและประยุกต์เป็นแนวทางสร้างธุรกิจห่วงโซ่ในประเทศ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจมีมูลค่าเพิ่มและมีการเชื่อมโยงกันอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งขอเรียกว่า Supply Chain Collaboration ครับ

 

ขอเริ่มจากระดับความร่วมมือของผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน(Enterprise Supply Chain Collaboration) แบ่งเป็น 4 ลำดับการพัฒนา ดังนี้ 

 

Stage1 การแชร์ข้อมูลระหว่างกัน (Sharing Information) โดยข้อมูลที่จะแชร์ระหว่างกัน ได้แก่ ข้อมูล ดีมานด์และซัพพลาย ยกตัวอย่าง ธุรกิจปลายนํ้า ซึ่งส่วนใหญ่คือ ผู้ขายจะทราบถึงดีมานด์ของผู้ซื้อว่า เป็นอย่างไร ดังนั้นการแชร์ข้อมูลระดับดีมานด์ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นให้ธุรกิจกลางนํ้าและต้นนํ้ารับทราบแต่เนิ่นๆ จะทำให้ธุรกิจสามารถปรับกระบวนการผลิตได้ ในขณะที่ธุรกิจต้นนํ้าจะรู้ถึงต้นทุนการผลิตว่า เป็นอย่างไร Stage นี้ถือเป็นความร่วมมือเบื้องต้นที่ Supply Chain Collaboration ต้องเริ่มทำ จึงจะเกิดความร่วมมือของ Stage ต่อไป

 

Stage2 การแลกเปลี่ยนการตัดสินใจระหว่างกลุ่มธุรกิจ (Exchanging Decision Rights) เป็นลำดับการพัฒนาต่อจาก Stage 1 คือ ให้อำนาจผู้ขายสินค้าสามารถตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการสต็อกสินค้าของกลุ่มธุรกิจได้ เนื่องจากผู้ขายเป็นผู้ที่เห็นความต้องการผู้บริโภคได้เร็วที่สุด ซึ่งการบริหารจัดการสต็อกล่วงหน้าบนพื้นฐานดีมานด์จะทำให้สามารถลดต้นทุนของกลุ่มธุรกิจใน Supply Chain ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

Stage3 การแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างกลุ่มธุรกิจ(Exchanging Work) การพัฒนา Stage 3 ในกระบวนการ Supply Chain คือ ธุรกิจที่อยู่กลางนํ้าและต้นนํ้า สามารถพิจารณาแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างกันตามลำดับความเชี่ยวชาญของตนสายการผลิตใดที่ทับซ้อนกันก็ให้ใช้สายการผลิตของผู้ประกอบการที่ผลิตได้ดีและต้นทุนต่ำกว่า 

 

Stage 4 การแชร์ปัจจัยเสี่ยงและกำไรระหว่างกลุ่มธุรกิจร่วมกัน (Sharing Risks and Benefits) มาถึงลำดับสุดท้ายของการพัฒนา Supply Chain Collaboration ที่การพัฒนาจาก Stage 1 ถึง Stage 3 เมื่อผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว และสามารถรวมกลุ่มก้อนกันอย่างแข็งขัน การที่ผู้ประกอบการสามารถแชร์ปัจจัยเสี่ยงและผลกำไรของกิจการระหว่างกันเป็นกลุ่มธุรกิจจะทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply Chain สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการภายนอกประเทศได้

 

“Stage 4 นับเป็น Supply Chain Collaboration ขั้นสูงสุดที่ผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply Chain เดียวกันได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุด” 

 

การพัฒนา Supply Chain Collaboration ไล่ไปตั้งแต่ Stage 1-4 เป็นแนวทางที่จะทำให้กลุ่มธุรกิจของผู้ประกอบการเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ฉะนั้นการเริ่มต้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต้องเริ่มที่ Stage 1 คือ แชร์ข้อมูลระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านดีมานด์และด้านซัพพลายระหว่างกันก่อน ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นที่ต้องมีกลไกที่ทำให้เกิดความเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ และกฎหมาย กฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดความเชื่อใจระหว่างกัน

 

ได้แก่ สัญญาการซื้อขาย สัญญาพันธมิตรธุรกิจการค้า ที่กำหนดขอบข่ายการแชร์ข้อมูลธุรกิจระหว่างกัน ไม่ให้เกิดการนำข้อมูลของพันธมิตรทางธุรกิจไปหาผลประโยชน์เพื่อแข่งขัน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาจะมีสัญญาการค้าลักษณะนี้ และในการแชร์ข้อมูลระหว่างกันจะใช้บริษัทตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลธุรกิจที่กลุ่มธุรกิจต้องการแชร์ข้อมูลให้กันและกัน เพื่อลดปัญหาความไม่เชื่อใจกันในระดับหนึ่งครับ

 

ฉบับหน้า ผมจะนำเสนอความร่วมมือของภาครัฐผ่านนโยบายการสนับสนุนที่อำนวยความสะดวกและเอื้อให้เกิดความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจเพื่อ Supply Chain Collaboration เติบโตอย่างยั่งยืนครับ 

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย : ธรรมทัช ทองอร่าม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส  ศูนย์วิเคราะหืเศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

 

ที่มา: หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,648 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2564