สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานผลผลิตมันสำปะหลังปี 2568 (เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567- กันยายน 2568) คาดว่ามีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.629 ล้านไร่ ผลผลิต 27.196 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,152 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.421 ล้านไร่ ผลผลิต 26.783 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,181 กิโลกรัม พบว่า พื้นที่เก็บเกี่ยว และผลผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 และร้อยละ 1.54 ตามลำดับ แต่ผลผลิตต่อไร่ ลดลงร้อยละ 0.91
โดยเดือนมีนาคม 2568 คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 5.11 ล้านตัน (ร้อยละ 18.78 ของผลผลิตทั้งหมด) ทั้งนี้ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2568 จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2568 ปริมาณ 15.56 ล้านตัน (ร้อยละ 57.23 ของผลผลิตทั้งหมด) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ ราคาหัวมันสำปะหลังสด สัปดาห์นี้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.67 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 1.75 บาทในสัปดาห์ก่อน หรือลดลงร้อยละ 4.57 ส่วนราคามันเส้น สัปดาห์นี้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.26 บาท ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 5.32 บาท ในสัปดาห์ก่อน หรือลดลงร้อยละ 1.13
นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลการประชุมการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ในที่ประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการนำวาระลับเข้ามาพิจารณา เป็นเรื่องโรงงานเอทานอล ที่ผู้ประกอบการจากบราซิลมาขอตั้งโรงงานในไทย โดยไทยได้ให้การยินยอมและไม่ขัดขวาง พร้อมให้การสนับสนุน แต่มีเงื่อนไขต้องมาใช้วัตถุดิบในไทยเท่านั้น
“อย่างไรก็ดีโรงงานดังกล่าวกลับมาขอให้เปิดเสรีให้นำเข้าเอทานอลจากบราซิลด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้จะมีปัญหาเนื่องจากหากยอมให้นำเข้าจากบราซิล หากสหรัฐอเมริกาเห็นตัวอย่าง ว่าไทยให้บราซิลนำเข้าได้ โดยยกเว้นภาษีให้ด้วย อีกหน่อยก็ต้องเปิดให้สหรัฐด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศอาจล่มสลาย ยอมรับว่าบรรยากาศวันนั้นตึงเครียด เรื่องก็เลยค้างคา ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ต้องรอทางกระทรวงพาณิชย์สรุปเป็นหนังสือรายงานจากที่ประชุมอีกครั้งว่า จะตรงกับที่เกษตรกรคัดค้านหรือไม่”
ขณะที่นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบมาตรการทางภาษีและสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ในสภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการ นบมส. กล่าวถึงความคืบหน้างบประมาณโครงการบริหารจัดการพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อการควบคุมโรคใบด่างและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังใช้งบกว่า 852 ล้านบาท ที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ได้เห็นชอบไปแล้วนั้น ในที่ประชุมได้พิจารณาการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ นบมส. จำนวน 5 คณะ ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง
2.คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ระดับจังหวัด 3.คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปี 2568-2572 (ผู้แทนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมเป็นอนุกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธานอนุกรรมการ) 4.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการศัตรูมันสำปะหลัง และ 5.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการศัตรูมันสำปะหลัง ระดับจังหวัด จะต้องนำเรื่องมาผ่าน 5 คณะใหม่ในชุดดังกล่าวอีกครั้ง
แหล่งข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ เผยถึงสถานการณ์ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยว่า เวลานี้ได้เริ่มกลับมาขยายตัว จากมีความต้องการจากตลาดต่างประเทศ และปัจจัยบวกด้านผลผลิตมันสำปะหลังที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มมากขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นในการนำไปแปรรูปเพื่อส่งออก ข้อมูลการออกใบอนุญาตส่งออกสินค้ามันเส้นและมันอัดเม็ด 3 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) ปริมาณ 2.13 ล้านตัน มูลค่า 13,512 ล้านบาท หากคิดเป็นปริมาณหัวมันสด 5.09 ล้านตัน (ใช้แปรสภาพหัวมันสด 2.38 กิโลกรัม เทียบเท่ามันเส้น 1 กิโลกรัม
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,089 วันที่ 20 - 23 เมษายน พ.ศ. 2568