ทีเอ็มบีธนชาต แนะ SMEs นำเข้า-ส่งออกหาตัวช่วยลดความผันผวนค่าเงิน

27 เม.ย. 2565 | 05:50 น.

ทีเอ็มบีธนชาต แนะ SMEs นำเข้า-ส่งออกหาตัวช่วยลดความผันผวนค่าเงินมรับมือเศรษฐกิจโลก ชี้ภาพรวมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของไทยช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 ยังเติบโตได้ดี

นางสาวสุกัญญา ตรีเสน่ห์จิต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ทำธุรกิจนำเข้าหรือส่งออก ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านต้นทุนในการบริหารจัดการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงินที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า

 

ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการติดตามสถานการณ์การเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และควรหาตัวช่วยเพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน และช่วยลดขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

 

อีกทั้งควรเตรียมความพร้อมด้านวงเงินสินเชื่อให้พร้อมหากมีโอกาสลงทุน หรือมีวงเงินไว้เสริมสภาพคล่องหากมีผลกระทบต่อธุรกิจ 

ปัจจุบันธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนำเข้าและส่งออก มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเอสเอ็มอีเป็นฟันเฟืองสำคัญ แม้ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (Covid-19) แต่ธุรกรรมนำเข้าและส่งออกของเอสเอ็มอี ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยในปี 2564 เอสเอ็มอีไทยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวมกันมากกว่า 67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11.70% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวม

 

และล่าสุดตัวเลขการส่งออกของประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีมูลค่ากว่า 23.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวถึง 16.23% โดยเป็นสัดส่วนของเอสเอ็มอีถึง 12% 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ประเมินภาพรวมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของไทย ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 ว่ายังคงเติบโตได้ดี แม้ปัจจุบันจะมีปัจจัยในด้านอื่น ๆ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เช่น ปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน หรือราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

นางสาวบุษรัตน์ เบญจรงคกุล หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจตลาดเงินและบริการธุรกรรมทางการเงิน ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงการซื้อ-ขายหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ยังคงเน้นใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก 

 

ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสกุลเงินท้องถิ่น ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น จึงเริ่มหันมาซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น แต่ก็ยังมีความยุ่งยาก เนื่องจาก หนึ่งบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) รองรับได้หนึ่งสกุลเงิน

 

ดังนั้นหากผู้ประกอบการทำธุรกิจโดยมีคู่ค้าหลายประเทศ บนหลายสกุลเงิน จำเป็นต้องเปิดบัญชี FCD หลายบัญชี ซึ่งอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารหลายบัญชี