“สุริยะ” ถกคลัง แก้พ.ร.บ. รฟม. ดึงเงินสะสม 8 พันล. รับ 20 บาทตลอดสาย

15 พ.ค. 2568 | 01:00 น.

“สุริยะ” ถกคลังแก้ร่างพรบ. รฟม.ฉบับใหม่ ดึงกำไรสะสม 8,000 ล้านบาท หนุนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ ฟากกทม.จ่อโอนสายสีเขียวแลกบริหาร ขสมก. แทนคมนาคม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงฯ มีแผนนำร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (พ.ร.บ.รฟม.) ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบเพื่อให้ทันการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในวันที่ 28 - 30 พ.ค.นี้

“ขณะนี้กระทรวงยังไม่สามารถดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาได้ เนื่องจากกระทรวงการคลังความคิดเห็นถึงประเด็นการใช้เงินกำไรสะสมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อไปใช้ชดเชยส่วนต่างรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ นั้นอาจไม่สามารถดำเนินการได้โดยตรง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการหารือในรูปแบบการใช้เงินให้รอบคอบ เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย คาดว่าจะหารือแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ในปัจจุบันได้ทราบว่าการปรับแก้ พรบ.รฟม.ที่ต้องนำเงินกำไรสะสมไปส่งให้กองทุนตั๋วร่วมที่จะอยู่ภายใต้ พรบ.ตั๋วร่วมนั้น ต้องหารือกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังก่อน แต่ รฟม.ไม่ได้หารือในรายละเอียดนี้ ทำให้ขณะนี้ รฟม.ต้องกลับไปหารือกรมบัญชีกลางก่อน ว่าจะสามารถนำเงินนี้มาใช้ในรูปแบบใด เพื่อแก้ร่าง พ.ร.บ.รฟม.ต่อไป
 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงยืนยันจะผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ตามเป้าหมายภายใน 30 ก.ย.นี้ เนื่องจากปัจจุบันมีความพร้อมในผลการศึกษาทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงการหารือเพื่อนำเงินกำไรของ รฟม.มาเข้ากองทุนตั๋วร่วม และชดเชยส่วนต่างรายได้ที่จะเกิดขึ้นในรถไฟฟ้าสายอื่นๆ 

“กระทรวงฯ ยังยืนยันว่ามาตรการนี้จะใช้เงินชดเชยเพียง 8,000 ล้านบาทต่อปี ไม่มีการปรับเพิ่มกรอบวงเงินเป็น 9,500 ล้านบาทอย่างที่เป็นข่าวแน่นอน” นายสุริยะ กล่าว  

อย่างไรก็ดีในระหว่างนี้กรรมาธิการยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม และการกำกับดูแล ชดเชยส่วนต่างค่ารายได้ของผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทั้งหมด 
 

ขณะนี้ในชั้นกรรมาธิการได้พิจารณาผ่านวาระ 1 แล้ว โดยกระทรวงฯ จะมีการเสนอเพิ่มรายละเอียดของการเปิดรับเงินเข้ากองทุนตั๋วร่วม จากเดิมกำหนดรับได้เพียงเงินบริจาค จะปรับเพิ่มให้มีเงื่อนไขรับเงินเข้ากองทุนได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดว่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ควรมีผู้บริหารจัดการหน่วยงานเดียว (Single Owner) เพราะจะทำให้การบริหารจัดการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อโอนสิทธิในการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับกระทรวงคมนาคมนั้น เป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจากกระทรวงฯ ต้องการบริหารรถไฟฟ้าให้เป็นระบบและมาตรฐานเดียวกันอยู่แล้ว 

ทั้งนี้ในกรณีที่ กทม.มีแนวคิดขอแก้ระเบียบกฎหมายในการนำกิจการรถเมล์มาดูแลเอง เพราะปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม หาก กทม.ได้กำกับจะทำให้การบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนใน กทม.ดีขึ้นนั้น เป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจาก ขสมก.ปัจจุบันให้บริการรถเมล์ในพื้นที่ กทม.เป็นส่วนใหญ่ น่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการบริหารจัดการ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้คงต้องหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม