กต. ยันสาเหตุ “ตัดไฟ-เน็ตชายแดน” กัมพูชาไม่ถอย ดันคดีขึ้นศาลโลก

11 มิ.ย. 2568 | 07:03 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2568 | 07:04 น.

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทยย้ำแผนตัดไฟ-ระงับอินเทอร์เน็ตชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นมาตรการความมั่นคง ไม่ใช่การกดดันทางการเมือง ขณะกัมพูชาเดินหน้านำประเด็นปราสาทขึ้นศาลโลก

11 มิถุนายน 2568 กระทรวงการต่างประเทศของไทยออกมาชี้แจงต่อรายงานข่าวกรณีที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชาจากประเด็นความตึงเครียดระหว่าง ไทย-กัมพูชา โดยแถลงว่า แม้รัฐบาลไทยจะมีแผนตัดกระแสไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา แต่จะไม่ทำให้กัมพูชาล้มเลิกการเดินหน้าเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาควาย รวมถึงพื้นที่สามเหลี่ยมมรกต ให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) พร้อมยืนยันว่าจะยังคงร่างระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission: JBC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายนนี้

ฝั่งไทย โดยนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงต่อข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า แผนการตัดไฟและระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตตามแนวชายแดนนั้นมีวัตถุประสงค์ชัดเจนด้านความมั่นคง เพื่อป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เช่น การหลอกลวงทางออนไลน์หรือสแกมเมอร์ ไม่ใช่เครื่องมือกดดันกัมพูชาเพื่อหวังผลการเจรจาทางการเมืองในเวทีทวิภาคีอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งการเข้าใจคลาดเคลื่อนนี้เป็นสิ่งที่ไทยไม่เห็นด้วย และขอให้ทางการกัมพูชาร่วมมือกันต่อต้านการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนในลักษณะดังกล่าว

ในประเด็นของการใช้กลไกทวิภาคี ไทยยังคงยืนยันความมุ่งมั่นที่จะใช้กลไกการเจรจาที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนอย่างสันติ โดยเฉพาะผ่านเวทีสำคัญอย่าง JBC ซึ่งไทยเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการคลี่คลายความขัดแย้งทางพรมแดน ทั้งยังมีการเจรจาระหว่างหน่วยงานทางทหารในพื้นที่ชายแดนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองฝั่ง ทั้งนี้ ไทยยังยืนยันจุดยืนเดิมที่ได้ประกาศมาตั้งแต่ปี 2503 ว่าไม่ยอมรับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศไทยได้แถลงความคืบหน้าในสถานการณ์ชายแดน โดยเผยว่ากำลังของทั้งสองฝ่ายได้ลงพื้นที่สำรวจแนวเขตและคูเลตร่วมกัน มีการกลบฝังพื้นที่ตามข้อตกลงและปรับกำลังกลับไปอยู่ในแนวที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ในปี 2567 ซึ่งถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่สะท้อนถึงความจริงใจของฝ่ายกัมพูชาในการลดความตึงเครียด และเป็นผลจากการเจรจาทวิภาคีในหลายระดับ

การประชุม JBC ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ณ กรุงพนมเปญ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการคลี่คลายปัญหาเขตแดนที่มีความเปราะบางมายาวนาน โดยกลไก JBC ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2543 ได้มีการประชุมมาแล้ว 10 ครั้ง และแม้จะหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2555 แต่ก็เคยสร้างความคืบหน้าในหลายพื้นที่ เช่น การพัฒนาสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา ที่บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท และโครงการสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ที่จันทบุรี

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเน้นย้ำว่า นอกจากกลไก JBC แล้ว ไทยและกัมพูชายังมีคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) และการเจรจาระดับทวิภาคีในทุกระดับ ทั้งทหารและพลเรือน เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเสถียรภาพร่วมกันในฐานะประเทศเพื่อนบ้านในครอบครัวอาเซียน ทั้งนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนก็เป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่ง

ในส่วนของมาตรการความมั่นคงนั้น ไทยยังคงเดินหน้าแผนควบคุมพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการยกระดับมาตรการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงแผนการตัดกระแสไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตในบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น บ่อนการพนันหรือศูนย์ปฏิบัติการของแก๊งสแกมเมอร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

สุดท้าย กระทรวงการต่างประเทศไทยขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนและประชาชนในการใช้วิจารณญาณต่อข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบยืนยัน และหลีกเลี่ยงการเผยแพร่หรือขยายความข่าวที่อาจปลุกปั่นหรือสร้างความเข้าใจผิด อันอาจนำไปสู่ความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดนโดยไม่จำเป็น ทั้งหมดนี้เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการรักษาสันติภาพ ความปลอดภัย และความร่วมมืออันดีระหว่างไทย-กัมพูชาในระยะยาว