คลังเคาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจพรุ่งนี้ ชงครม.สัปดาห์หน้า

09 มิ.ย. 2568 | 08:07 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2568 | 08:19 น.

ปลัดคลังเผยคณะอนุกรรมการฯ ถกพรุ่งนี้ เคาะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท คาดชงครม.สัปดาห์หน้า หลังสั่งสำนักงบประมาณ ทบทวนใหม่ โฟกัส 4 เป้าหมายใช้เงิน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (10 มิ.ย.68) จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท เพื่อพิจารณาโครงการที่จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจครอบคลุม 4 กลุ่มเป้าหมาย โดยคาดว่าจะเสนอโครงการเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

“คาดว่าการพิจารณาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้งบ 1.57 แสนล้านบาท จะไม่ทันเสนอเข้าที่ประชุมครม. อังคารนี้ ต้องรอลุ้นเสนอครม. ในสัปดาห์หน้า“

ส่วนจะทยอยเสนอโครงการให้ครม. อนุมัติ หรือจะเสนอทั้งกรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาทเลยนั้น จะต้องรอติดตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้งก่อน จึงจะมีความชัดเจน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการ ได้มีการประชุมพิจารณาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังไม่สรุปโครงการที่จะใช้งบ 1.57 แสนล้านบาท เนื่องจากเกือบทุกหน่วยงานที่เสนอแผนใช้เงินเข้ามาสูงเกินจริง รวมมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท กว่า 1หมื่นโครงการ เกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้  

อีกทั้งหลายโครงการยังมีความซ้ำซ้อน ไม่ตรงกับ 4 ภารกิจการใช้เงิน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งให้สำนักงบประมาณไปทบทวนใหม่

สำหรับหน่วยงานที่เสนอของบประมาณเข้ามาสำคัญ อาทิ

  • กระทรวงมหาดไทยขอ 21,000 โครงการ วงเงิน 79,900 ล้านบาท  
  • กระทรวงคมนาคมขอเข้ามา 80,000 ล้านบาท มีทั้งการซ่อม สร้างถนน ระบบราง และน้ำ
  • กระทรวงพาณิชย์ชงงบกระตุ้นภาคส่งออกและช่วยเหลือผู้รับผลกระทบมาตรการภาษีสหรัฐฯ 3,000 ล้านบาท  
  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอ 13,000 ล้านบาท เดินหน้าโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง และอื่นๆ
  • รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอโครงการจ้างงานของกรมชลประทาน กรุงเทพมหานครขอ 1,500 ล้านบาท

ขณะที่ 4 กลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

1.โครงสร้างพื้นฐาน

ด้านน้ำ : ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง, กระจายน้ำไปยังชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ผลิตเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศ และการพัฒนา/ปรับปรุงระบบประปา

ด้านคมนาคม : แก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่เป็นคอขวดและขาดความเชื่อมโยง, เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง, แก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟและ ถนนเสมอระดับ, ก่อสร้าง/ปรับปรุงจุดพักรถบรรทุกเพื่อให้สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ. ขนส่งทางบกฯ และปรับปรุง/พัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่การผลิต

2.การท่องเที่ยว

ด้านการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว : ปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ ห้องพัก สถานที่ ป้ายบอกทาง, พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกให้แก่ นักท่องเที่ยว, พัฒนาและยกระดับความปลอดภัยให้แก่ นักท่องเที่ยว อาทิ การติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ภายในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ เมืองรอง 

3.การลดผลกระทบภาคส่งออก และเพิ่มผลิตภาพ

ด้านการเกษตร : เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร อาทิ การสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม

ด้านการลดผลกระทบแรงงาน : สนับสนุนมาตรการการเงินการคลัง และสนับสนุนสินเชื่อ (เฉพาะผู้ส่งออก) เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน กองทุนประกันสังคม 
ด้านดิจิทัล : พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการค้าระหว่างประเทศ

4.เศรษฐกิจชุมชน และอื่น ๆ

  • กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (SML)
  • โครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนและอื่น ๆ
  • โครงการการพัฒนาทุนมนุษย์ ด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ