นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้ สำหรับโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา วงเงิน 68.74 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 2,440.19 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินการดังกล่าว สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างทางยกระดับแนวใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร และขยายช่องทางจราจรเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดระยอง
ซึ่งจะช่วยลดระยะทางจากการเดินทางโดยทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุด สู่สนามบินอู่ตะเภา จากเดิม 5 กิโลเมตร เหลือเพียง 1.92 กิโลเมตร รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดหาเงินกู้จากต่างประเทศ
ในการนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการทาบทามและเจรจาเงินกู้กับ ADB และคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 โดยมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 68.74 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 2,440.19 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกู้เงินเพื่อสนับสนุนในโครงการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศในหลายมิติ เช่น การลดระยะทางในการเดินทางสู่สนามบินอู่ตะเภา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดปัญหาการจราจรแออัดบริเวณโดยรอบสนามบิน และสนับสนุนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศไทย
ตลอดจนเสริมสร้างระบบคมนาคมขนส่งแบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับภาคตะวันออก ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและส่งเสริมการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (The Eastern Economic Corridor: EEC) ให้เป็นเมืองธุรกิจและศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต เป็นต้น