สัญญาณอันตราย เอสเอ็มอี-โรงงาน แห่ปิดกิจการ ทนพิษการแข่งขันไม่ไหว

09 มิ.ย. 2568 | 06:01 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2568 | 06:05 น.

สศช.ส่งสัญญาณเตือนภาคธุรกิจ ผจญการแข่งขันไม่ไหว อึ้งข้อมูลปี 2567 ธุรกิจเอสเอ็มอีเลิกกิจการ 2.4 หมื่นแห่ง และมีโรงงานเลิกกิจการ 1,234 แห่ง เล็งออกมาตรการช่วยเหลือด่วน

วันนี้ (9 มิถุนายน 2568) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.จับตาสถานการณ์แรงงาน ในปี 2568 หลังจากเห็นปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 2567 ที่ผ่านมาพบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี มีการจดทะเบียนเลิกกิจการไปเกือบ 2.4 หมื่นแห่ง และมีโรงงานเลิกกิจการไปกว่า 1,234 โรงงาน

โดยเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นหลัก กระทบกับแรงงานกว่า 3.5 หมื่นคน ซึ่งโรงงานที่เลิกกิจการส่วนใหญ่เป็นโรงงานในภาคการผลิตที่มีปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน 

ทั้งนี้ สศช. เห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เอสเอ็มอีโดยข้อมูลจากรายงาน Thailand Economic Monitor February 2025 ของธนาคารโลกพบว่า ธุรกิจในไทยมีการใช้นวัตกรรมในกิจกรรมต่าง ๆ ในสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเพียงร้อยละ 11.9 น้อยกว่าประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40.9 37.9 และ 37.3 ตามลำดับ 

อีกทั้งยังมีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในปี 2567 ธุรกิจ เอสเอ็มอีมีการจดทะเบียนเลิกกิจการ โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมาก 

ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้ เอสเอ็มอีไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับกระบวนการผลิต ลดต้นทุน และรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยปัจจุบัน เอสเอ็มอีรองรับแรงงานไว้กว่า 12.9 ล้านคน ซึ่งหากสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ จะส่งผลดีต่อสถานะการจ้างงานและรายได้ของแรงงานด้วย

“ในแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี จำเป็นต้องมีแนวทางออกมาช่วยเหลือจากทางภาครัฐ เพื่อให้ประคบประคองกิจการต่อไปได้ ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ น่าจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเหลือให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้” นายดนุชา ระบุ

พร้อมกันนี้ สศช. ยังแนะนำการสร้างหลักประกันกรณีถูกเลิกจ้างให้แก่แรงงาน โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิด หากนายจ้างไม่จ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ลูกจ้างสามารถยื่นเรื่องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ 

ทั้งนี้ สถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีลูกจ้างจำนวนมากถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับค่าชดเชยตามที่ควรจะเป็น โดยในหลายกรณี พบว่า สถานประกอบการที่เลิกกิจการเป็นสถานประกอบการต่างชาติ ซึ่งยากต่อการติดตามให้มาจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามกฎหมาย ส่งผลให้ในช่วงปี 2563 – 2567 มีลูกจ้างที่ต้องมาขอรับเงินสงเคราะห์กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยจากกองทุนฯ กว่า 21,663 คน ซึ่งคิดเป็น 40% ของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างในช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่เงินชดเชยจากกองทุนฯ มีเพดานที่จำกัด และไม่เป็นไปตามสิทธิที่แรงงานพึงได้รับตามกฎหมาย จึงควรมีการศึกษาและกำหนดมาตรการที่ชัดเจนที่จะทำให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าวได้รับการชดเชย 

โดยอาจใช้กลไกการมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือการจัดตั้งเป็นกองทุน เช่น ในประเทศฝรั่งเศส ที่มีกองทุนที่นายจ้างต้องสมทบเข้ามาตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองพนักงานในกรณีที่บริษัทล้มละลาย ซึ่งจะจ่ายเงินต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง อาทิ ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย รวมถึงค่าเลิกจ้าง โดยกองทุนนี้บริหารโดยหน่วยงานกึ่งเอกชน