ลุ้นครม. พรุ่งนี้ อัดงบ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” 1.57 แสนล้าน ประเดิมก้อนแรก

09 มิ.ย. 2568 | 05:22 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2568 | 05:27 น.

ลุ้นครม. วันพรุ่งนี้ 10 มิถุนายน 2568 อัดงบ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ภายใต้แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท สศช.ชี้นัดถกด่วนเย็นวันนี้ คาดชงขอประเดิมก้อนแรกก่อน

วันนี้ (9 มิถุนายน 2568) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการภายใต้แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท จะหารือเพื่อสรุปรายละเอียดโครงการที่เสนอของบประมาณภายใต้แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือ งบกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกครั้งในวันนี้ และคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 มิถุนายน นี้ พิจารณาเห็นชอบต่อไป

สำหรับการพิจารณาโครงการที่เสนอของบประมาณภายใต้งบกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาได้มีโครงการเสนอเข้ามาจำนวนมาก และทางคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาไปแล้วหลายครั้ง เบื้องต้นอาจจะเสนอครม.เพื่อเห็นชอบโครงการบางส่วนก่อน โดยจะเน้นไปที่โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศเป็นหลัก 

“เงินที่จะลงสู่เศรษฐกิจ 157,000 ล้านบาท คาดว่า จะผลักดันโครงการเข้ามาในครม.ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2568 นี้ เพราะต้องการให้มีเงินลงในระบบเศรษฐกิจทันที และการกำหนดให้ต้องเร่งเบิกจ่ายเงินลงไปให้เสร็จสิ้นภายใน 1ปี หรือภายในกันยายน 2569 จริง ๆ อาจจะต้องเร่งให้เบิกจ่ายให้เร็วกว่านั้น เพื่อให้มีเงินลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น” นายดนุชา กล่าว 

ก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ระบุว่า ที่ผ่านมามีเสนเสนอขอโครงการภายใต้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านการคัดสรรจากทางสำนักงบประมาณ มาจำนวนกว้า 1 หมื่นโครงการ วงเงินรวมสูงถึง 4 แสนล้านบาท

จากการพิจารณารายละเอียดโครงการล่าสุดหลายหน่วยงานที่ส่งเข้ามา ยังไม่เข้ากรอบ 4 กลุ่มเป้าหมาย จึงมอบหมายให้สำนักงบประมาณ ไปทบทวนรายละเอียดให้รอบครอบขึ้น และนำกลับมารายงานที่ประชุมอีกครั้ง

สำหรับรายละเอียดข้อเสนอโครงการ/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เบื้องต้น) ที่ผ่านการเห็นชอบจากครม. โครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เสนอของบประมาณเข้ามาจะต้องครอบคลุม 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย

1.โครงสร้างพื้นฐาน

ด้านน้ำ : ป้องกันอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง, กระจายน้ำไปยังชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ผลิตเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรในพื้นที่ทั่วประเทศ และการพัฒนา/ปรับปรุงระบบประปา

ด้านคมนาคม : แก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่ที่เป็นคอขวดและขาดความเชื่อมโยง, เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง, แก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟและ ถนนเสมอระดับ, ก่อสร้าง/ปรับปรุงจุดพักรถบรรทุกเพื่อให้สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ. ขนส่งทางบกฯ และปรับปรุง/พัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรอง แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่การผลิต

2.การท่องเที่ยว

ด้านการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว : ปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ ห้องพัก สถานที่ ป้ายบอกทาง, พัฒนาระบบอำนวยความสะดวกให้แก่ นักท่องเที่ยว, พัฒนาและยกระดับความปลอดภัยให้แก่ นักท่องเที่ยว อาทิ การติดตั้งระบบ CCTV ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ภายในประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ เมืองรอง 

3.การลดผลกระทบภาคส่งออก และเพิ่มผลิตภาพ

ด้านการเกษตร : เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร อาทิ การสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม

ด้านการลดผลกระทบแรงงาน : สนับสนุนมาตรการการเงินการคลัง และสนับสนุนสินเชื่อ (เฉพาะผู้ส่งออก) เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน กองทุนประกันสังคม 
ด้านดิจิทัล : พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการค้าระหว่างประเทศ

4.เศรษฐกิจชุมชน และอื่น ๆ

  • กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (SML)
  • โครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนและอื่น ๆ
  • โครงการการพัฒนาทุนมนุษย์ ด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ