จับตา “พีระพันธุ์” ทิ้งทวนก่อนปรับ ครม. ซุ่มประชุมเคาะงบ 3.5 พันล้าน

07 มิ.ย. 2568 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2568 | 04:12 น.

จับตา “พีระพันธุ์” เรียกประชุม “กองทุนอนุรักษ์พลังงาน”  9 มิ.ย.นี้ สั่งบอร์ดเร่งเคาะงบ ปี 68 ค้างท่อกว่า 3,500 ล้าน ก่อนปรับ ครม. 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในจันทร์ที่ 9 มิ.ย.นี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ ส.กทอ.ชุดใหญ่ ที่ห้องประชุม 2503 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล

โดยมีวาระสำคัญ คือ การอนุมัติร่างประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2568 ที่มีวงเงินงบประมาณรอการอนุมัติอยู่กว่า 3,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตาว่า การประชุม ส.กทอ.ที่มีนายพีระพันธุ์ เป็นประธานในครั้งนี้ พึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปี โดยก่อนหน้านี้ มีการประชุมไปครั้งแรกตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค. 

การเรียกประชุมในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวการ “ปรับ ครม.” ที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. โดยมีรายชื่อของ นายพีระพันธุ์ อยู่ในข่ายถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเช่นกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า บอร์ด ส.กทอ.หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมที่สำคัญของกองทุนอนุรักษ์พลังงานเนื่องจากมีการอนุมัติการประกาศรับสมัครโครงการที่ขอสนับสนุนจาก ส.กทอ. ซึ่งมีวงเงินงบประมาณของกองทุนที่รออนุมัติอยู่ถึง 3,500 ล้านบาท

ตามปกติการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องมีความรอบคอบ และความโปร่งใสในการดำเนินการ แต่ นายพีระพันธุ์กลับสั่งให้มีการเร่งรัดดำเนินการในหลายขั้นตอน ตั้งแต่การเร่งรัดเรียกประชุมคณะกรรมการ รวมทั้งมีคำสั่งให้เร่งรัดออกประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทันที ในวันที่ 10 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นจากการประชุมในครั้งนี้ทันที

นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนี้ ไม่มีการแจ้งกำหนดการประชุม และการแถลงข่าวให้กับสื่อมวลชนสายพลังงาน หรือสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลรับทราบแต่อย่างใด

“เสมือนว่า นายพีระพันธุ์ไม่ต้องการให้สาธารณชนรับทราบ หรือติดตามข่าวสารในเรื่องนี้ จะเห็นว่า การดำเนินการที่เร่งรีบและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ย่อมทำให้หน่วยงานที่ไม่ได้รับทราบข่าวสารต่างๆ ไม่สามารถยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาได้ทันตามกำหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนดไว้ จนอาจเปิดทางให้เครือข่ายพรรคพวกของตนเองสามารถที่จะยื่นโครงการเข้ามาของบประมาณได้ก่อนหรือไม่”

แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ที่น่าสนใจก็คือช่างเป็นความพอดิบพอดีที่ในปีนี้ นายพีระพันธุ์ ได้สั่งให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณของกองทุนฯ ในวงเงินกว่า 400 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 3,500 ล้านบาท ไปให้กับโครงการที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อน

“เป็นโครงการสาธิตในพื้นที่เฉพาะ และให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย ซึ่งจากการกำหนดคุณสมบัติแบบนี้คล้ายกับการล็อกสเป็กในการประมูลราคาโครงการต่างๆ”

พร้อมระบุว่า ช่างเป็นความบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันว่า เมื่อปลายปี 2567 นายพีระพันธุ์ ได้ออกมาสนับสนุน “โครงการโซลาร์ราคาถูก” ซึ่งโครงการนี้ยังเป็นโครงการต้นแบบที่ยังไม่ได้ใช้จริงในเชิงพาณิชย์ แต่ นายพีระพันธุ์ ก็ได้ออกมาสนับสนุนโครงการนี้ ถึงขนาดบอกว่า โครงการนี้จะทำให้คนไทยได้ใช้โซลาร์เซลล์ราคาถูกแข่งขันกับเทคโนโลยีระดับโลกได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สวทช. (PTEC) ระบุว่า อินเวอร์เตอร์ที่ใช้กับแผงโซลาร์เซลล์ในโครงการต้นแบบนี้ยังไม่ได้มาตรฐาน และมีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบด้วยว่าวัสดุอุปกรณ์บางตัวนั้นคนประดิษฐ์ซื้อจากต่างประเทศ มาแกะแล้วประกอบใหม่เพื่อให้ราคาถูกลง ไม่ได้เข้าข่ายการสร้างเทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่แต่อย่างใด ที่สำคัญหากปล่อยให้มีการใช้งานโดยยังไม่ผ่านมาตรฐานการทดสอบอาจเกิดอันตรายกับบ้านเรือนประชาชนได้

จึงต้องจับตาว่า หากมีการยื่นโครงการนี้เข้ามาเพื่อของบจากกองทุนอนุรักษ์ฯ ก็เท่ากับว่า นายพีระพันธุ์ ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการที่ตนเองสนับสนุน ทั้งที่โครงการยังไม่ผ่านการทดสอบ หรือไม่

“หากมีการประชุมเกิดขึ้นจริง แล้วมีการอนุมัติให้เริ่มออกประกาศรับข้อเสนอโครงการเข้ามาสู่การพิจารณา ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเสี่ยงของคณะกรรมการทุกคนที่อาจติดร่างแหไปด้วย เหมือนที่ในอดีตเคยเกิดปัญหากับอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ที่ถูกสอบสวนและลงโทษสถานหนัก” แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าว

สำหรับบุคคลที่จะเกี่ยวข้องกับการประชุมครั้งนี้

  1. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน / ประธานคณะกรรมการกองทุนฯ
  2. นายสิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฯ
  3. นายบุนยรัชต์ กิติยานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฯ
  4. นางฉวีวรรณ สินธวณรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฯ 
  5. นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฯ
  6. นายอธึก อัศวานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฯ
  7. นายรัฐฉัตร ศิริพานิช ผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ส่วนหน่วยงานที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย

  • สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (ปลัดกระทรวงพลังงาน)
  • สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง (ผู้แทน)
  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ผู้แทน)
  • สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (เลขาธิการฯ หรือผู้แทน)
  • กรมบัญชีกลาง (ผู้แทน)
  • กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (อธิบดี)