ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน Dinner Talk “กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุน ววน.” ภายใต้แนวคิด ‘มองจุดร่วม สร้างจุดเปลี่ยน ร่วมสร้าง GDP ไทย ด้วยกองทุน ววน.’ ซึ่งจัดโดยสำนักยุทธศาสตร์แผน ติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ว่า
จากกรณีของสถานการณ์สงครามการค้า ภายหลังสหรัฐอเมริกาประกาศนโยบายการค้าและกำแพงภาษีกับหลายประเทศ จนทำให้เกิดผลกระทบทั่วโลก ซึ่งหากมองในอีกแง่มุมหนึ่งที่เป็นเชิงบวก จะพบว่า ภูมิภาคอาเซียนกำลังจะมีคลื่นการลงทุนรอบใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสเดียวในรอบหลายสิบปี ถ้าหากประเทศไทยพลาดโอกาสรอบนี้จะยากอย่างยิ่งที่จะทะลุทะลวงเพดานและสร้างโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศใหม่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
“โชคดีที่ท่ามกลางการต่อสู้ทั้งหมด โอกาสรอบใหม่ที่สำคัญที่สุดในรอบหลายสิบปี และน่าจะเป็นโอกาสเดียวในรอบนี้ที่กำลังมาหาเรา ถ้าเราอยากไปสู่ระดับถัดไปให้ได้ หากเราพลาดโอกาสรอบนี้เราจะยากอย่างยิ่งที่จะเติบโต” ดร.กอบศักดิ์ ระบุ
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคลื่นการลงทุนที่เกิดขึ้นมีอยู่ด้วยกัน 4 ครั้งใหญ่ โดยคลื่นระลอกแรก คือ คลื่นนักลงทุนจากญี่ปุ่นในช่วงปี 1980-1990 ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นมามีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงที่สุด คลื่นลูกที่สองเป็นคลื่นของนักลงทุนที่ออกมาจากฮ่องกงในช่วงก่อนปี 1997 จากนั้นจึงเป็นคลื่นลูกที่สามที่เข้ามาสู่จีนในช่วงปี 2000-2019 และคลื่นลูกที่สี่ ซางออกจากจีนเข้าสู่อินเดียและอาเซียนในปี 2022
สำหรับประเทศไทยเองนั้น เคยมีคลื่นลูกใหญ่ จากนักลงทุนญี่ปุ่นในช่วง 30-40 ปีก่อน คลื่นนักลงทุนจากญี่ปุ่นในช่วงปี 1980-1990 ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นมามีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงที่สุด และค่อย ๆ ชะลอตัวลงมา แต่ปัจจุบันไทยกำลังมีคลื่นการลงทุนระลอกใหม่ เป็นนักลงทุนจากทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบกำลังไหลเข้ามาในประเทศไทยและอาเซียนในแบบที่ไม่เคยเป็นมีมาก่อน
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบข้อมูลล่าสุดว่า ทุกประเทศในอาเซียนมีเงินลงทุนจากโลกสูงถึง 17% และยังไม่ใช่ตัวเลขที่สูงที่สุด เพราะจากการประเมินของบีโอไอ พบว่า ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นถึง 20% และมากกว่านั้น ซึ่งเงินที่ไหลเข้ามาในอาเซียนครั้งนี้ นับเป็นการโอกาสรอบใหม่ในการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรม และเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้จากการพิจารณาตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 2568 จาก BOI ยังมีตัวเลขที่น่าภูมิใจ คือ มีจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้น 20% และมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 97% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ BCG รถประหยัดพลังงาน แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์และอินเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง
“คลื่นการลงทุนรอบนี้มาจากทั่วทุกประเทศ แม้กระทั่งจีน และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็น แต่เมื่อโรงงานต่าง ๆ ที่มาลงทุนสร้างเสร็จ จะเปลี่ยนอาเซียนในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เหมือนที่เคยเปลี่ยนประเทศไทยมาแล้วเมื่อตอนคลื่อนนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย ก้าวเราข้ามข้อจำกัด ด้วยการพัฒนาทักษะของคนในการผลิตและวิจัย ก้าวขึ้นไปบนเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างสตาร์ทอัพและอตุสาหกรรมแห่งอนาคต” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามมองว่า เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าวนโยบายสำคัญที่ควรต้องเร่งดำเนินการ คือ การเปิดประเทศไทย และสร้างผู้เล่นของเราเอง พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและการพัฒนาคนที่เหมาะสม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ใช่ที่จะรองรับอนาคตถัดไป รวมทั้งปลดล็อกกฎระเบียบ-กฎหมายต่าง ๆ และระบบราชการที่ล้าสมัย
“เราไม่สามารถพึ่งท่องเที่ยวได้อย่างเดียว ต้องสร้างคนที่ทำงานกับเทคโนโลยี เปลี่ยนคนให้สอดรับ เอกชนต้อลงทุนกับสิ่งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น รัฐบาลต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ สนามบิน ทุกอย่างจะเสริมนโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้ไทยมีพลังที่จะทะลุทะลวงสิ่งที่กีดขวางเราไว้ การเพิ่มโอกาสของไทยในการช่วงชิงการลงทุน ต้องเสริมจุดแข็งเดิมและสร้างระบบนิเวศใหม่ และเร่งขยาย FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่และลดการพึ่งพาตลาดเดิมด้วย” ดร.กอบศักดิ์ ระบุ