รัฐปฏิวัติจัดสรรงบฯ เลิกทุ่มจังหวัดใหญ่ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

07 พ.ค. 2568 | 01:11 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2568 | 01:27 น.

รัฐบาลลุยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย รื้อระบบจัดสรรงบประมาณ เน้นกระจายงบสู่จังหวัดเล็กแทนจังหวัดใหญ่ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวนจากสงครามการค้าและนโยบายภาษีของสหรัฐ ขณะที่สถาบันวิจัยหั่นจีดีพีเหลือ 1.5-2.4% รับมือสหรัฐขึ้นภาษี 36%

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากสงครามการค้าและนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กระทรวงการคลังเตรียมปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ เริ่มตั้งแต่การจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยจะปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณแบบเดิมที่เอื้อประโยชน์ให้จังหวัดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มาเป็นการกระจายงบประมาณสู่จังหวัดขนาดเล็กมากขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายพัฒนาอย่างทั่วถึง

 

ขณะที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำต่างทยอยปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 68 จากผลกระทบมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้เท่าเทียม (Reciprocal Tariffs) ที่มีความเสี่ยงจะถูกเก็บในอัตรา 36% จากสหรัฐฯ

นายกฯสั่งรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากสงครามการค้าและการประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้ World Bank และสถาบันต่างๆ คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะตกต่ำลง

 

นายกฯ ระบุว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบดังกล่าวไปด้วย โดยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่ได้เคยคาดการณ์ไว้ รายได้ของประชาชนในภาพรวมจะลดลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีอันเป็นรายได้ของประเทศ

 

ทั้งนี้ นายกฯ ได้มอบหมายให้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับเรื่องนี้ไปหารือในคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจและนำมาเสนอต่อ ครม. โดยเร็ว พร้อมเน้นย้ำว่า “ท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส” และขอให้ประชาชนทุกคนมีกำลังใจที่จะร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน

รื้อระบบจัดสรรงบประมาณ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการวางแนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเริ่มตั้งแต่การจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ จะไม่ใช่การจัดสรรงบประมาณแบบเดิมที่จังหวัดขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ได้งบประมาณมากกว่าจังหวัดที่ขนาดเล็กกว่า ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดขนาดเล็กมักจะถูกตัดงบประมาณ ทำให้การเสนอโครงการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาจังหวัดขนาดเล็กไม่ได้เกิดขึ้น

 

กระทรวงการคลังได้เข้าหารือถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำเข้าเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเชื่อว่า เมื่อประกาศออกมาแล้วทุกคนจะสบายใจขึ้น โดยเฉพาะแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเน้นการลงทุนในจังหวัดขนาดเล็ก โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

 

“ลวรณ” ชี้“โจทย์” ต้องชัดก่อนอัดฉีดงบ

 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ แต่รายละเอียดต้องขึ้นอยู่กับ “โจทย์” ที่ชัดเจนเสียก่อน เพราะการใช้เงินต้องมีเป้าหมายแน่นอน เช่น การกระตุ้นการบริโภค การลงทุน หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยย้ำว่าหากจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่ม รัฐบาลต้องสามารถตอบสังคมได้ชัดเจนถึงวัตถุประสงค์การใช้เงิน และแผนการชำระหนี้ในอนาคต

 

ในประเด็นเรื่องตัวเลข 500,000 ล้านบาทที่เป็นข่าว ลวรณกล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะยืนยัน เพราะยังไม่มีการกำหนดโครงการที่ชัดเจน การวางแผนควรเริ่มที่โครงการก่อน แล้วค่อยประเมินวงเงินที่ต้องใช้ ไม่ใช่เริ่มจากตัวเลขเงินก้อน

 

สำหรับแหล่งเงินหากต้องใช้จริง ลวรณระบุว่าประเทศไทยยังมีหลายทางเลือก เช่น การเกลี่ยงบประมาณปีนี้ การใช้เงินงบกลางที่มีอยู่ การใช้งบฉุกเฉิน เงินสำรองในงบประมาณ รวมถึงการกู้เงินเพิ่มหากจำเป็น โดยทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนของโครงการที่จะดำเนินการ

 

ในเรื่องการกู้เงิน ลวรณชี้ว่า การกู้เงินไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหากมีการใช้เงินอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถชำระคืนได้ แม้เพดานหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 64% ของ GDP แต่หากมีการกู้เพิ่มเติมอีก 500,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นเพียงราว 3% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลหากสามารถอธิบายต่อสังคมและสภาได้อย่างโปร่งใ

 

นอกจากนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ อาจต้องมีการจัดเตรียมวงเงินเพื่อซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้า ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการหารือกันไว้แล้ว

 

ปัญหาการเกลี่ยงบประมาณ

 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ตามที่นายกฯมีนโยบายให้เกลี่ยงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งในปี 2568 และปี 2569 นั้น ยอมรับว่าหลังจากหารือกับกระทรวงต่างๆแล้วไม่สามารถเกลี่ยได้ เพราะแต่ละกระทรวงอ้างว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรรนั้นเป็นโครงการที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม

 

โดยเฉพาะงบในกระทรวงที่พรรคร่วมรัฐบาลดูแลทำได้ยากมาก หากไปปรับลดหรือเกลี่ยงบใหม่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ ดังนั้นแนวทางที่กำหนดไว้ในขณะนี้คือการใช้กลไกของสภาฯในกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 ปรับลดหรือเกลี่ยงบแทน

 

อย่างไรก็ตาม การรัดเข็มขัดเป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องทำควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม โดยเห็นได้จากงบประมาณปี 2569 จะเป็นปีแรกที่จัดทำงบประมาณแบบไม่ขยายตัว คือ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.7 จากปีงบประมาณ 2568 เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โยกเงินไปใช้กับรายการที่จำเป็น เพื่อสร้างพื้นที่ทางการคลังให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

รัฐปฏิวัติจัดสรรงบฯ เลิกทุ่มจังหวัดใหญ่ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

เรียงแถวปรับลดจีดีพีปี 68

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจแห่เฉือน “จีดีพีปี 68” เหตุสหรัฐกับจีนยื้ออัตราภาษีนำเข้า ค่ายวิจัยกรุงศรีชี้ความคืบหน้าการเจรจาการค้า/ท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กระทบเศรษฐกิจโดยรวม และการตัดสินใจของ กนง. ในการประชุมครั้งถัดไป 25 มิ.ย. หลังปรับประมาณการภายใต้ 3 ฉากทัศน์ ด้านกรุงไทยคอมพาส-ttb Analytic แนะรัฐ จับตาระดับความเดือดร้อน-พิจารณาผลกระทบ 3 ปัจจัยก่อนอัดฉีดเงินช่วย “ผู้ส่งออก-แรงงานถูกเลิกจ้าง” เหตุงบประมาณมีจำกัด

 

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินมาตรการภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดอย่างมากและจัดเก็บกับประเทศต่างๆ ในวงกว้าง ไม่เพียงกระทบต่อการค้าการลงทุนและภาคการผลิตของแต่ละประเทศ แต่ยังส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

 

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเศรษฐกิจพึ่งพาการค้าต่างประเทศค่อนข้างมาก มาตรการภาษีนำเข้าในอัตราสูงเช่นนี้ย่อมกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจะซ้ำเติมภาวะการฟื้นตัวแบบ K-Shaped ที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรม

 

วิจัยกรุงศรีได้ประเมินจีดีพีของไทยในปี 2568 ภายใต้ 3 ฉากทัศน์ ได้แก่:

 

1. หากสหรัฐฯ คงอัตราภาษีนำเข้าที่ 10% ตลอดทั้งปี คาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวที่ 2.2-2.4%

 

2. หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ต่อประเทศต่างๆ โดยไทยโดนอัตราภาษีที่ 36% เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน จะส่งผลให้จีดีพีไทยชะลอลงมาอยู่ที่ 1.9-2.1%

 

3. หากมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ดำเนินต่อเนื่องเกิน 6 เดือน หรือหากประเทศคู่แข่งประสบความสำเร็จในการเจรจากับสหรัฐฯ จนทำให้อัตราภาษีนำเข้าของประเทศเหล่านั้นต่ำกว่าไทย กรณีดังกล่าวจีดีพีไทยอาจขยายตัวเพียง 1.5-1.8% ในปีนี้

 

นอกจากนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ในระยะสั้น มาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ อาจทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงอย่างมากและเฉลี่ยทั้งปี 2568 อาจเติบโตใกล้ศูนย์หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาลดภาษีนำเข้า พร้อมประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายน (25 มิ.ย.) เนื่องจากความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้าจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออก

 

แนะพิจารณา 3 ปัจจัยก่อนใช้งบ

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัญญาณการปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ส่วนปรับลดลงเหลือไม่ถึง 2.0% จากเดิมคาดประมาณ 3.0% โดยเฉพาะสำนักวิจัยเศรษฐกิจในต่างประเทศ เช่น IMF ปรับประมาณการต่ำ 1.8% ธนาคารโลก (World Bank) 1.6% บนสมมติฐานว่าครึ่งปีหลังไทยจะโดนเก็บภาษีในอัตราเต็ม 36%

 

“การอัดฉีดเงินงบประมาณของรัฐรอบนี้จะต่างจากก่อนหน้าที่เป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคัก แต่ปัจจุบันด้วยประเด็นเก็บภาษีของทรัมป์ถ้าเกิดขึ้นจริงครึ่งปีหลังและบางเซ็กเตอร์ส่งออกไม่ได้หรือหาตลาดใหม่ไม่ได้อาจจะเป็นปัญหา ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นที่มาตรการรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างสูงหรือช่วยแรงงานถ้าถูกเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งเป็นการใช้เงินงบประมาณพิเศษเพื่อช่วยเหลือบางเซ็กเตอร์ โดยการอัดฉีดต้องจับตาระดับความเดือดร้อนขนาดไหน” ดร.พชรพจน์กล่าว

 

โดย Krungthai COMPASS ปรับประมาณการจาก 2.7% เป็น 2 กรณีคือ 1. กรณีภาษี universal tariff ที่ 10% จีดีพีไทยจะขยายตัว 2.0-2.2% การส่งออกยังพอขยายตัวได้ที่ 0.9% จำนวนนักท่องเที่ยว 37.5 ล้านคน