แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวิชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) อีกครั้ง เพื่อออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเติมสภาพคล่องผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าไทยที่ได้ผลกระทบจากนโยบายภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ จะมีการหารือเรื่องของนโยบายการเงิน พันธบัตร และตลาดทุนด้วย
“การออกสินเชื่อซอฟต์โลนในครั้งนี้ จะมีลักษณะคล้ายกับพ.ร.ก.ซอฟต์โลนที่ออกมาช่วงโควิด แต่จะมีการปรับเงื่อนไขผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากพ.ร.ก.ซอฟต์โลนที่ออกมาช่วงโควิดนั้นยังมีความเข้มงวดในเกณฑ์พิจารณา ทำให้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างครอบคลุม”
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากากระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีปัญหาเรื่องนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกานั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้สรุปผลกระทบ เนื่องจากนโยบายของทรัมป์ ในตอนนี้ยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายการรับรู้ว่านโยบายทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ความเสี่ยงอาจจะทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศมีเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีต่ำกว่าเป้าหมาย
สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น กระทรวงการคลังยังคงมีเป้าหมายการการขยายตัวของจีดีพีปี 2568 เท่าเดิม คือ 3% ต่อปี ซึ่งรัฐบาลต้องหากลไกที่จะเข้ามาเติม เพื่อรักษาเป้าหมายเดิม ส่วนกระบวนการนั้น มองว่าจีดีพีต้องการการขับเคลื่อนจากการลงทุน ซึ่งต้องมาดูในรายละเอียดต่อไป ยืนยันว่า รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อบรรเทา และลดผลกระทบจากนโยบายตอบโต้ของทรัมป์แน่นอน
“รัฐจะเตรียมเม็ดเงินเข้าไปช่วยภาคธุรกิจ แต่ไทม์ไลน์ยังไม่ใช่นาทีนี้ เพราะนโยบายทางสหรัฐฯ ยังไม่แน่นอน และผลกระทบยังประเมินยาก เนื่องจากสหรัฐฯ เองมีความไม่ชัดเจน เลื่อนกำหนดการ เปลี่ยนรายละเอียดไปมา ไม่ใช่เป็นเพราะไทยยังไม่ได้เจรจา ทางรัฐบาลเรามีการเตรียมข้อมูลไว้แล้ว แต่ก็ต้องคอยดูว่าสิ่งที่เตรียมไปจะตรงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สุดท้ายจะตกลงที่ตรงไหน จึงจะเป็นช่วงที่ประเมินผลกระทบได้”
ขณะที่เครื่องมือหรือเม็ดเงินทางการคลังมีเพียงพอรองรับนโยบายหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า โจทย์แรกคือ ดูที่งบประมาณ ก็ต้องดูว่ามีส่วนไหนประหยัดได้ และหมุนมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น ส่วนเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 70% นั้น ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะขยายหรือไม่
”ถ้าเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นส่วนแรกต้องดูของที่อยู่ในมือก่อน ถ้าไม่เพียงพอเราจึงจะคิดหาช่องทางอื่น รัฐบาลไม่ใช่มีแค่เรื่องของการยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ แต่อาจจะมีการขับเคลื่อนการลงทุนรัฐวิสาหกิจ ที่อาจจะผ่อนให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเบาลงได้“
ส่วนเรื่องการจัดเก็บรายได้กรมภาษี จะได้รับผลกระทบจากนโยบายสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการสั่งให้แต่ละกรมประเมิน อย่างไรก็ตาม ดูจากการจัดเก็บรายได้ภาษีจากต้นปีงบประมาณจนมาถึงปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มว่าจะพลาดเป้า กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้มากขึ้น ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนภาษีนิติบุคคลขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ ต้องดูช่วงกลางปี 2568 ที่อาจจะกระทบบางจากเรื่องความไม่มั่นใจ ส่วนการลงทุนใหม่ยังเกิดขึ้นยาก เพราะความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดทั่วโลกนักลงทุนไม่มีความมั่นใจที่จะลงทุนที่ไหนเลย ส่วนศุลกากร ต้องต้องการปรับอัตราภาษีนำเข้า ส่วนการจัดเก็บรายได้ปัจจุบันต่ำกว่าเป้า ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์โลก