“พิชัย” เตรียม 5 แสนล้าน กระตุ้นบริโภค-ลงทุน รับมือภาษี “ทรัมป์”

23 เม.ย. 2568 | 09:41 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2568 | 09:53 น.

คลังเตรียมกระตุ้นบริโภค-ลงทุน 5 แสนล้านบาท รับมือนโยบายภาษีทรัมป์ คาดสรุปโครงการเดือนหน้า ระบุหากใช้เครื่องมือกู้เงิน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 3%

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการปรับลดจีดีพี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวจาก 2.9% เหลือ 1.8% นั้น มองว่าน่าจะเป็นการประเมินแค่เบื้องต้น ซึ่งของจริงอาจจะลดไม่ถึงก็ได้

เพราะว่าสถานการณ์นโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอนนี้ยังไม่แน่นอน และมีการเปลี่ยนแปลงตลอด แต่ยอมรับว่าอาจจะต้องมีผลกระทบต่อจีดีพีบ้าง ซึ่งจะต้องมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้มีการติดตามและพร้อมออกมาตรการเข้ามาดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่จะลดลงไปอยู่แล้ว เพื่อรักษาจีดีพีให้เติบโตได้ในระดับเดิม โดยลักษณะโครงการจะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เกิดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ  

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าน่าจะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญไปที่เรื่องการกระตุ้นการบริโภค รวมถึงการลงทุนในประเทศ ตลอดจนการจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ส่วนที่มาของแหล่งเงินจะมีการกู้หรือไม่ จะต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพัฒน์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด

ส่วนหากนำวงเงินดังกล่าวมาใช้ จะมีผลกระทบต่อหนี้สาธารณะหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า  ไม่อยากให้มองเรื่องภาระหนี้ เพราะหลายประเทศก็มีหนี้สูงกว่าเมืองไทย แต่สิ่งสำคัญคือต้องมองว่า หากมีการกู้เงินมาจะนำมาใช้ทำอะไร ซึ่งหากสามารถทำให้ขนาดเศรษฐกิจเติบโตขยายตัวได้กว่าเดิม สุดท้ายก็จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงได้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่ายืนยันว่า ตอนนี้ฐานะการคลังไทยยังมีความเข้มแข็งส่วนที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่กว่า 500,000 ล้านบาทนั้น ก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องดูว่าจะเข้ามาทำในส่วนไหน ซึ่งมองว่าเรื่องการกระตุ้นการบริโภคก็จะเกิดผลได้ไว แต่เรื่องการลงทุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ 

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ตอนนี้ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการกู้หรือไม่ เนื่องจากยังสามารถทำได้จากหลายวิธี ทั้งวิธีกสรเกลี่ยเงินงบประมาณ รวมถึงงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 150,000 ล้านบาท ที่มีเหลืออยู่ก็ต้องทบทวนดู รวมทั้งใช้สถาบันการเงินของรัฐเข้ามาปล่อยสินเชื่อเพื่อเติมเงินเข้าเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย 

“ตอนนี้ยังไม่ได้มีการสรุปว่าจะใช้โครงการใดบ้าง ออกมารับมือนโยบายสหรัฐฯ หลังจากนี้จะต้องรอดูการสรุปโครงการก่อน น่าจะมีความชัดเจนในเดือนพ.ค.68 และยังต้องติดตามนโยบายสหรัฐฯ ด้วย เพราะขณะนี้นโยบายยังไม่แน่นอน ซึ่งหากรัฐเลือกกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็กระทบหนี้สาธารณะเพิ่ม 3% โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะเราอยู่ที่ 64.21%“

ส่วนการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 75-80% ได้หรือไม่นั้น มองว่าเรื่องเพดานหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ เนื่องจากหลายประเทศก็มีหนี้สาธารณะสูงกว่า 80-100% แต่สิ่งสำคัญ คือ การกู้เงินมาจะมาใช้ในโครงการใดบ้าง และต้องดูเรื่องความเชื่อมั่นและความสามารถในการชำระหนี้คืนด้วย