คืบหน้า! ทีมไทยลุยเจรจาสหรัฐ หวังหาทางออก "ภาษีทรัมป์"

15 เม.ย. 2568 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2568 | 03:31 น.

คณะเจรจาไทยเตรียมเดินสายพบภาคธุรกิจ-รัฐบาลสหรัฐ มุ่งเปิดเวทีแก้มาตรการภาษีทรัมป์ หาทางออกที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2568 ถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของคณะผู้แทนรัฐบาลไทยในการเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือแนวทางรับมือมาตรการภาษีนำเข้าที่สหรัฐเตรียมบังคับใช้ โดยไทยอาจได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีใหม่สูงถึง 36% ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยจะนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะออกเดินทางล่วงหน้าในวันที่ 17 เมษายน ไปยังซีแอตเทิล เพื่อพบกับภาคธุรกิจสหรัฐในหลากหลายกลุ่ม ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม และการลงทุน ก่อนที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเข้าร่วมในวันที่ 20 เมษายน เพื่อเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเจรจาอย่างเป็นทางการกับตัวแทนรัฐบาลสหรัฐในวันที่ 21 เมษายนนี้

นายจิรายุระบุว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา ไทยได้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผลกระทบ และจัดทำยุทธศาสตร์ต่อรองร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ โดยเน้นสร้างความสมดุลทางการค้า ควบคู่กับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระยะยาว รัฐบาลไทยมั่นใจว่า ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ จะสามารถผลักดันแนวทางที่เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

ไทยเตรียมเสนอมาตรการ 5 แนวทางในการเจรจา ได้แก่

  1. เน้นความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านการผลิตคุณภาพสูง ส่วนสหรัฐฯ มีความสามารถด้านวัตถุดิบต้นทาง เทคโนโลยี และเกษตรกรรมระดับพรีเมียม หากเกิดความร่วมมือกัน คาดว่าจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
  2. พร้อมเปิดตลาดและลดภาษีในสินค้าเกษตร ภายใต้กรอบ National Trade Estimate 2025 ของสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด จากสหรัฐ โดยใช้โควต้านำเข้าแบบยืดหยุ่นรั กษาสมดุลเพื่อให้ไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ
  3. เพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากสหรัฐ ที่ไทยไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น ก๊าซธรรมชาติ เครื่องบินพาณิชย์ และผลไม้เมืองหนาว ซึ่งจะช่วยลดดุลการค้าและสร้างสมดุลในเชิงเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ
  4. เสนอคัดกรองสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม ทั้งการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบและโรงงานผลิต เน้นความโปร่งใสและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้า
  5. ส่งเสริมการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปภายในสหรัฐ เพื่อลดแรงต้านทางการค้า โดยมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐ เพื่อช่วยขยาย value chain ใหม่ และลดแรงเสียดทานจากนโยบายภาษีของทรัมป์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเจรจาครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการยืนยันความพร้อม ความจริงใจ และศักยภาพในการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยมูลค่าส่งออกปีที่ผ่านมา 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้คณะผู้แทนดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผลการเจรจาสะท้อนผลประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง