รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกกลุ่ม

24 ก.ย. 2565 | 06:07 น.

รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกหนี้ จัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้: มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ระหว่างกันยายน 2565 – มกราคม 2566

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม และเป็นระบบ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้รายย่อยผ่านการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้: มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน”

รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกกลุ่ม

โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ตลอดจนชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวก ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดกับประชาชน

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก เป็นการเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระเงินและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2565

 

โดยขณะนี้มีสถาบันทางการเงินตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว 56 ราย ครอบคลุมหนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนรถ นาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อทุกประเภทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

 

ส่วนระยะที่สอง เป็นการเพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันทางการเงินของรัฐ ซึ่งจะจัดงานมหกรรมสัญจร ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะจัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลยังคำนึงถึงการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนเพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ได้แก่ รายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเป็น 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

 

1. การแก้หนี้เดิม ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพคล่องลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร (non-bank) จำนวน 3.84 ล้านบัญชี มูลค่ารวม 2.9 ล้านล้านบาท, กลุ่มลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 340,000 ราย, กลุ่มลูกหนี้ครูที่ได้เข้าร่วมโครงการสร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย จำนวนกว่า 41,000 ราย, กลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้เข้าร่วมโครงการคลีนิกแก้หนี้ จำนวนกว่า 87,000 ราย

 

2. การเติมเงินใหม่ ผ่านโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน สินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 133,245 ราย เป็นวงเงิน 324,989 ล้านบาท รวมทั้งยังมีโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) Re-open ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain ของโรงแรม เป็นต้น

 

3. การให้คำปรึกษาและให้ความรู้เพื่อเสริมทักษะทางการเงิน ผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โดยปัจจุบันมีลูกหนี้ขอรับคำปรึกษาแล้วกว่า 4,500 ราย ซึ่งจะส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ทักษะการประกอบอาชีพ และความรู้ด้านดิจิทัลให้กับลูกหนี้ ขณะเดียวกัน ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ มีทักษะในการบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัยทางการเงิน

 

“รัฐบาลเน้นย้ำการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องมีการแก้ไขปัญหา วางมาตรการทั้งในระยะสั้น และระยะยาวให้ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท โดยจะแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม สร้างรายได้ผ่านการให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเพิ่มเติม ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันด้านการสร้างทักษะทางการเงินให้ประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ ให้โอกาส สร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน” นายอนุชาฯ กล่าว