‘ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง’1.4 หมื่นล.งบบานปลาย เปิดประมูล PPP พ.ย.นี้

16 ก.ย. 2565 | 05:36 น.

“กทพ.” ชงบอร์ดมาตรา 36 ต.ค.นี้ ประมูล “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” วง เงิน 1.4 หมื่นล้านบาท เล็งดึงเอกชนร่วมทุน PPP สัญญา 35 ปี ภายในพ.ย. 65 ขณะที่การเปิดรับฟังความเห็น เผยเอกชนห่วงความเสี่ยงรายจ่าย-รายได้ ไม่สอดรับกัน หลังจ่อทบทวนงบก่อสร้างใหม่ คาดเปิดบริการปี 71

การทางพิเศษแห่งประเทศ ไทย (กทพ.) เร่งรัดเปิดประมูล “ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง” วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ถือเป็นทาง ด่วนสายแรกของไทยที่เปิดให้รถจักรยานยนต์สามารถวิ่งได้ ซึ่งจะเชื่อมโยงการเดินทางจากอำเภอกะทู้-หาดป่าตอง และบรรเทาปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุบนถนนหมายเลข 4029 อีกทั้งเป็นเส้นทางที่ใช้อพยพกรณีเกิดภัยพิบัติได้

 

 

 รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 14,670 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792 ล้านบาท และค่าก่อสร้างรวมค่าควบคุมงาน 8,878 ล้านบาท มีพื้นที่เวนคืน จำนวน 192 แปลง สิ่งปลูกสร้าง จำนวน 221 หลัง ผู้ถูกเวนคืนที่ดิน จำนวน 104 ราย ที่ผ่านมากทพ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างเอกสารประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชน (RFP) คาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณา ภายในเดือนตุลาคมนี้

 

 

 

 “กรณีที่กทพ.มีแผนทบทวนงบประมาณค่าก่อสร้าง เนื่องจากราคานํ้ามันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าวัสดุก่อสร้างมีราคาสูง โดยคาดว่างบประมาณค่าก่อสร้างจะมีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 5% นั้น ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เอกชนมีความกังวลในช่วงที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะเอกชนมองว่าเป็นความเสี่ยงในด้านรายได้ที่ลดลง ขณะที่การแบกรับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ในช่วง 2-3 ปีก่อน รวมทั้งยังกังวลผลการศึกษาคาดการณ์ปริมาณการจราจรของโครงการฯ จะเป็นไปตามแผนหรือไม่ อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการได้เหมือนเดิมไหม เบื้องต้นกทพ.ได้มีการทบทวนในเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณาด้วย”

ทั้งนี้หากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรา 36 แล้ว กทพ.จะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน ในรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบ รายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โดยเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงาน พร้อมทั้งให้เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง คาดว่าจะเริ่มกระบวนการประมูลและได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูลภายในกลางปี 2566

 

 

 รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมนำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนของโครงการฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการ หลังจากนั้นจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ใช้ระยะเวลาราว 3-4 เดือน คาดว่าจะเริ่มกำหนดจ่ายค่าทดแทนและเวนคืนที่ดินได้ภายในปี 2566 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการส่งมอบที่ดินและระยะเวลาการออกพ.ร.ฎ.เวนคืนด้วย โดยมีแนวเส้นทางพื้นที่เวนคืนที่ดินอยู่ในบริเวณช่วงปากทางเข้าอุโมงค์ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมต่อทางยกระดับเพื่อเชื่อมต่อกับถนนเดิม และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการปี 2571

 

 

ทั้งนี้จากผลการศึกษาโครงการฯ ที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) กับ 20.44% ขณะที่ผลตอบแทนด้านการเงินมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 1,734 ล้านบาท Equity Irr 8.50% อัตราส่วนผลตอบ แทนต่อต้นทุน (B/C ratio) 1.12 เท่า ระยะเวลาคืนทุน 21 ปี ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการฯได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 รวมทั้งได้รับการอนุมัติให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เรียบร้อยแล้ว

สำหรับรูปแบบโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง ระยะทางรวม 3.98 กม. เป็นทางพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับ ถ.พระเมตตา ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จน ถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ มีทางขึ้น-ลง 2 แห่ง และมีด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณ ต.กะทู้ 1 ด่าน

‘ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง’1.4 หมื่นล.งบบานปลาย เปิดประมูล PPP พ.ย.นี้

 

 

อย่างไรก็ตามหากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการ คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรประมาณ 6 หมื่นคันต่อวัน แบ่งเป็น รถยนต์ 30,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 30,000 คันต่อวัน ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นทางด่วนสายแรกที่มีการเปิดให้บริการรถจักรยานยนต์ สามารถใช้บริการได้ส่วนอัตราค่าบริการ รถจักรยานยนต์ จะอยู่ที่ 15 บาท ส่วนรถ 4 ล้อ อยู่ที่ 40 บาท รถ 6-10 ล้อ อยู่ที่ 80 บาท และมาก กว่า 10 ล้อ อยู่ที่ 120 บาท