รุมกินโต๊ะ “ซินเจียง” สกัดจีนขึ้นเบอร์ 1-สะเทือนห่วงโซ่ผลิตโลก

05 ก.ย. 2565 | 08:20 น.

ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐฯ “เลวร้าย” อย่างต่อเนื่อง หลังจากการไปเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ตามด้วยการขายอาวุธสหรัฐฯ ให้ไต้หวันมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ การห้ามส่งออกชิปของบริษัท Nvidia และ AMD ไปจีน เพื่อไม่ให้จีนนำไปใช้ในอาวุธ

 

รุมกินโต๊ะ “ซินเจียง”  สกัดจีนขึ้นเบอร์ 1-สะเทือนห่วงโซ่ผลิตโลก

 

และเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 รายงานของยูเอ็น “OHCHR Assessment of human rights concerns in the Xinjiang Uyghur Autonomous Region, People’s Republic of China” ว่า มณฑลซินเจียงปฎิบัติต่อมุสลิมอุยกูร์ ใน 4 ประเด็นใหญ่คือ

 

1.เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จับมัดมือและเท้าแล้วทุบตี ผู้หญิงถูกข่มขืน และถูกคุมขังโดยลำพังเป็นเวลานาน 2.วิจารณ์การต่อต้านผู้ก่อการร้ายและลัทธิหัวรุนแรงของรัฐบาลจีน ระบุว่ากฎหมายและระเบียบข้อบังคับมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน 3.มีการกักขังโดยพลการและตามอำเภอใจ และ 4.บังคับให้กินยาหรือฉีดยาโดยไม่มีคำอธิบายว่ามันคืออะไร

 

รวมไปถึงอังกฤษ สหรัฐฯ และแคนาดา กล่าวหาว่ารัฐบาลจีนปฎิบัติต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ โดยการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนรุนแรง รัฐมนตรีสหรัฐฯ Antony Blinken กล่าวถึงจีน "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" อดีตที่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ Dominic Raab กล่าวว่าการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เป็น "การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างน่าสยดสยอง" และรัฐสภาสหราชอาณาจักรได้ประกาศเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ว่าจีนกำลังก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียง

 

ในขณะที่เอกอัครราชทูตแคนาดา Leslie Norton “กังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์” การออกรายงานของยูเอ็นยิ่งทำให้ประเด็นซินเจียงจะกลายเป็นประเด็น ข้อพิพาททางการค้าและอุณหภูมิการเมืองระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตร และจีน “ร้อนแรงขึ้นไปอีก”

 

รุมกินโต๊ะ “ซินเจียง”  สกัดจีนขึ้นเบอร์ 1-สะเทือนห่วงโซ่ผลิตโลก

 

สำหรับ “เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uygur Autonomous Region)” โดย “ซิน แปลว่า ใหม่” และ “เจียง แปลว่า แนวชายแดน” ซินเจียงจึงแปลว่า “เส้นทางชายแดนใหม่” ซินเจียงมีความสำคัญกับประเทศจีนอย่างมากเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั้งเส้นทางสายไหม (เป็นเส้นทางผ่านไปยังเอเซียกลางและยุโรป) และทางเศรษฐกิจ เช่น ท่องเที่ยว เสื้อผ้า ไวน์ ทับทิม มะเขือเทศ การเลี้ยงปศุสัตว์และพืช

 

ในปี 2020 ซินเจียงมีขนาดเศรษฐกิจ 1.3% ของ GDP จีน อยู่อันดับที่ 24 ของ 31 มณฑล (อันดับ 1-5 คือกว่างโจว 11% เจียงซู 10% ซานตง 7% เจ้อเจียง 6% Henan 5% โดยขนาดเศรษฐกิจจีนเท่ากับ 16 ล้านล้านเหรียญ ปี 2020) ซินเจียงติด 8 ประเทศคือมองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถานและอินเดีย

 

โครงสร้างประชากรในซินเจียงมีจำนวน 25 ล้านคน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือชนกลุ่มน้อยสัดส่วน 60% ของประชากรทั้งหมดและที่เหลือเป็นชาวจีน ชนกลุ่มน้อยมีประชากรมุสลิมอุยกูร์มากสุด 48% ชาวคาซัค (Kazakhs) ร้อยละ 7 ชาวหุย (Hui) ร้อยละ 5 ชาวมองโกล (Mongols) ร้อยละ 1 นอกจากนี้เป็นชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ได้แก่ Kyrgyz, Tibetans,  Tajiks,  Russians และ Sibe

 

อุยกูร์เป็นชนชาติมุสลิม ที่มีวัฒนธรรมใกล้ชิดกับเอเชียกลางมากกว่าวัฒนธรรมจีน ในปี 1949 ชาวอุยกูร์มีสัดส่วน 80% ของประชากรในซินเจียง ปัจจุบันลดลงเพราะมีชาวจีนอยยพเข้ามาอยู่มากขึ้น จากการที่รัฐบาลจีนสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นกับซินเจียง จึงทำให้คนจีนเข้ามาอยู่มากขึ้น  ชาวอุยกูร์ใช้ภาษาที่คล้ายกับภาษาตุรกี

 

ชาวอุยกูร์มีประวัติการต่อสู้กับรัฐบาลจีนมาตั้งแต่อดีต โดยชาวอุยกูร์ประกาศเป็นอิสระในปี 1940 แต่ต่อมาในปี 1949 ก็อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีน ซินเจียงเป็นมณฑลของจีนที่ “พื้นที่ใหญ่ที่สุด” สภาพโดยรวมเป็นภูเขาสัดส่วน 60% ที่เหลือเป็นพื้นที่แอ่งกะทะ การมีสภาพภูเขาทำให้มี “แร่ธาตุและพลังงานมากสุดในประเทศจีน” โดยมีน้ำมัน (30%) ก๊าชธรรมชาติ (34%) และถ่านหิน (40%) ของจีน  

 

เศรษฐกิจโดยรวม (2020) มาจากภาคบริการสัดส่วน 51% (การก่อสร้าง โลจิสติกส์ ค้าปลีก โทรคมนาคมและท่องเที่ยว) อุตสาหกรรม 34% (มีหลายเขตอุตสาหกรรม ได้แก่ เหมืองแร่ พลังงาน แปรรูปฝ้าย เสื้อผ้า อาหาร เครื่องจักรการเกษตร และเคมีภัณฑ์) และเกษตรกรรม 14% (ฝ้าย ปศุสัตว์ มะเขือเทศ ถั่ว ข้าว เรฟซีด)  

 

ซินเจียงเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายใหญ่สุดของจีน  โดยมีเกษตรกรครึ่งหนึ่งของซินเจียงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตฝ้าย โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้เกือบ 30% ของเหล่าเกษตรกร ปี 2016 ผลิตฝ้าย 3.5 ล้านตัน (84% ของผลผลิตจีน) และปี 2020 ผลิตฝ้าย 5 ล้านตัน (ความต้องการในประเทศ 8 ล้านตัน ทำให้ต้องนำเข้าฝ้าย) คิดเป็น 90% ของผลผลิตจีน บนพื้นที่ 2 ล้านเฮกตาร์ (12.5 ล้านไร่) โดยมีผลผลิตเป็นอันดับสองของโลกรองจากอินเดีย ปี 2020 ทั่วโลกผลิตฝ้าย 25.9 ล้านตัน (Top 10 cotton producing countries in the world โดย Elke Hortmeyer 1st July 2020)

 

รุมกินโต๊ะ “ซินเจียง”  สกัดจีนขึ้นเบอร์ 1-สะเทือนห่วงโซ่ผลิตโลก

 

ปัจจุบันฝ้ายจีนและวัตถุดิบอื่น ๆ ถูกห้ามนำเข้าจากบริษัทต่างชาติในหลายประเทศ ด้วยเหตุผลของละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในซินเจียง บังคับการใช้แรงงาน การกักขังในค่ายกักกัน การลบล้างวัฒนธรรม การข่มขืน การบังคับให้ทำหมัน การแยกเด็กออกจากครอบครัว และมีการสอดแนมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งทั้งหมดได้รับการรับรองของรัฐบาลจีน

 

ระหว่างปี 2017–19  ชาวอุยกูร์มากกว่า 80,000 คนถูกบังคับย้ายออกจากซินเจียงเพื่อทำงานในโรงงานทั่วประเทศจีน และอย่างน้อย 570,000 คนจากซินเจียงถูกบังคับให้เก็บฝ้าย และได้รับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย การห้ามนำเข้าได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของบริษัทต่างชาติที่พึ่งพิงฝ้ายจากซินเจียงในหลายอุตสาหกรรมทั้งโดยตรงและที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เสื้อผ้า รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ และค้าส่งค้าปลีก ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกันเพราะมีการใช้ Polysilicon จากซินเจียง รวมไปถึงอุตสาหกรรมมะเขือเทศที่ผลิตโดยแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นและแคนาดาก็จะได้รับผลกระทบ

 

รุมกินโต๊ะ “ซินเจียง”  สกัดจีนขึ้นเบอร์ 1-สะเทือนห่วงโซ่ผลิตโลก

 

กระทรวงการต่างประเทศจีนตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมชาติตะวันออกตกต้องโจมตีซินเจียงอย่างบ้าคลั่ง” พร้อมกับบอกเหตุผลว่า เพราะทรัพยากรธรรมชาติของซินเจียงที่มีอยู่มากและสำคัญต่ออุตสาหกรรมจีนและเป็นตามทฤษฎีสมคบคิดของสหรัฐฯ ที่ต้องการสกัดจีนไม่ให้เป็น “เบอร์หนึ่งโลก” ครับ