บอยคอต “ฝ้ายจีน” : ใครได้ ใครเสีย? ข้อพิพาทใหม่ค้าจีน-สหรัฐ-ตะวันตก ยื้อ

17 ก.ค. 2564 | 02:40 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เขียนบทวิเคราะห์ เรื่อง บอยคอต “ฝ้ายจีน” : ใครได้ ใครเสีย? ระหว่างจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และชาติตะวันตก แต่ที่แน่ ๆ ยังเป็นข้อพิพาททางการค้าใหม่ของโลกต่อไป

บอยคอต “ฝ้ายจีน” : ใครได้ ใครเสีย? ข้อพิพาทใหม่ค้าจีน-สหรัฐ-ตะวันตก ยื้อ

 

“เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uygur Autonomous Region)” โดย “ซิน แปลว่า ใหม่” และ “เจียง แปลว่า แนวชายแดน” ซินเจียง จึงแปลว่า “เส้นทางชายแดนใหม่”

 

ซินเจียงกลายเป็นประเด็นข้อพิพาททางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีนกับชาติตะวันตก ที่นอกเหนือจากประเด็นไต้หวัน และฮ่องกง ซินเจียงมีความสำคัญกับประเทศจีนอย่างมากเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทั้งเส้นทางสายไหม (เป็นเส้นทางผ่านไปยังเอเซียกลางและยุโรป) เศรษฐกิจ (อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว เสื้อผ้า ไวน์ ทับทิม มะเขือเทศ การเลี้ยงปศุสัตว์และพืช) และการปกครองของจีน (มีชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่เชื้อสายจีน)

 

จีนแบ่งเขตปกครองออกเป็น 33 มณฑล (หากรวมไต้หวันจะเป็น 34 มณฑล) โดยแบ่งออกเป็น 22 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง คือ กว่างสี (Guangxi) มองโกเลีย (Mongolia) หนิ่งเซีย (Ningxia) ซินเจียง (Xinjiang) และทิเบต (Tibet) รวมไปถึง 4 เขตเทศบาลนครประกอบด้วยปักกิ่ง (Beijing) ฉงชิ่ง (Chongqing) เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) และเทียนจิน (Tianjin) และ 2 เขตบริหารพิเศษคือ ฮ่องกง (Hong Kong) และมาเก๊า (Macau)

 

สำหรับซินเจียงในปี 2020 มีขนาดเศรษฐกิจ 1.3% ของ GDP จีน อยู่อันดับที่ 24 ของ 31 มณฑล (อันดับ 1-5 คือกว่างโจว 11% เจียงซู 10% ซานตอง 7% เจ้อเจียง 6% Henan 5% โดยขนาดเศรษฐกิจจีนเท่ากับ 16 ล้านล้านเหรียญ ปี 2020)

 

ซินเจียงติด 8 ประเทศ คือ มองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถานและอินเดีย โครงสร้างประชากรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ชนกลุ่มน้อยสัดส่วน 60% ประกอบด้วยชาวอุยกูร์ซึ่งมีจำนวนประชากรอยู่ร้อยละ 48 จำนวน 12 ล้านคนจาก 25 ล้านคน (ปี 2020 อันดับที่ 21) อุยกูร์เป็นชนชาติมุสลิม ที่มีวัฒนธรรมใกล้ชิดกับเอเชียกลางมากกว่าวัฒนธรรมจีน

 

ในปี 1949 ชาวอุยกูร์มีสัดส่วนประชากร 80% ปัจจุบันลดลงเพราะมีชาวจีนอยยพเข้ามาอยู่มากขึ้น การที่รัฐบาลจีนสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นกับซินเจียง จึงส่งผลให้คนจีนเข้ามาอยู่มากขึ้น ชนชาวคาซัค (Kazakhs) ร้อยละ 7 ชนชาวหุย (Hui) ร้อยละ 5 ชนชาวมองโกล (Mongols) ร้อยละ 1 นอกจากเป็นชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ได้แก่ Kyrgyz, Tibetans,  Tajiks,  Russians และ Sibe ที่เหลือเป็นชาวจีน ชาวอุยกูร์ใช้ภาษาที่คล้ายกับภาษาตุรกี ชาวอุยกูร์มีประวัติการต่อสู้กับรัฐบาลจีนมาตั้งแต่อดีต โดยชาวอุยกูร์ประกาศเป็นอิสระในปี 1940 แต่ต่อมาในปี 1949 ก็อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีน

 

บอยคอต “ฝ้ายจีน” : ใครได้ ใครเสีย? ข้อพิพาทใหม่ค้าจีน-สหรัฐ-ตะวันตก ยื้อ

 

ซินเจียงเป็นมณฑลของจีนที่ “พื้นที่ใหญ่ที่สุด” สภาพโดยรวมเป็นภูเขาสัดส่วน 60% ที่เหลือเป็นพื้นที่แอ่งกะทะ การมีสภาพภูเขาทำให้มี “แร่ธาตุและพลังงานมากสุดในประเทศจีน” โดยมีน้ำมัน (30%) ก๊าชธรรมชาติ (34%) และถ่านหิน (40%) ของจีน และมากที่สุดในประเทศจีน เศรษฐกิจโดยรวม (2020) มาจากภาคบริการสัดส่วน 51% (การก่อสร้าง โลจิสติกส์ ค้าปลีก โทรคมนาคมและท่องเที่ยว) อุตสาหกรรม 34% (มีหลายเขตอุตสาหกรรม ได้แก่ เหมืองแร่ พลังงาน แปรรูปฝ้าย เสื้อผ้า อาหาร เครื่องจักรการเกษตร และเคมีภัณฑ) และเกษตรกรรม 14% (ฝ้าย ปศุสัตว์ มะเขื่อเทศ ถั่ว ข้าว เรฟซีด)  

 

ซินเจียงเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายใหญ่สุดของจีน  โดยมีเกษตรกรครึ่งหนึ่งของซินเจียงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตฝ้าย โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้เกือบ 30% ของเหล่าเกษตรกร ปี 2016 ผลิตฝ้าย 3.5 ล้านตัน (67% ของผลผลิตจีน) และปี 2020 ผลิตฝ้าย 5 ล้านตัน (ความต้องการในประเทศ 8 ล้านตัน ทำให้ต้องนำเข้าฝ้าย) คิดเป็น 90% ของผลผลิตจีน บนพื้นที่ 2 ล้านเฮกตาร์ (12.5 ล้านไร่) โดยมีผลผลิตเป็นอันดับสองของโลกรองจากอินเดีย ปี 2020 ทั่วโลกผลิตฝ้าย 25.9 ล้านตัน (Top 10 cotton producing countries in the world โดย Elke Hortmeyer 1st July 2020)

 

ภาพจาก thai.cri.cn

 

ฝ้ายจีน กลายเป็น “ข้อพิพาทการค้าใหม่” เพราะอังกฤษ สหรัฐฯ และแคนาคา กล่าวหาว่ารัฐบาลจีนปฎิบัติต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ที่ละเมิดสิทธิมนุษย์ชนรุนแรง รัฐมนตรีสหรัฐฯ Antony Blinken กล่าวว่าจีนกำลัง "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ Dominic Raab กล่าวว่าการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เป็น "การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างน่าสยดสยอง"และรัฐสภาสหราชอาณาจักรได้ประกาศเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ว่าจีนกำลังก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียง (BBC News)

 

ในขณะที่เอกอัครราชทูตแคนาดา Leslie Norton “กังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์” (Aljazeera) และเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 สภาผู้แทนอังกฤษออกรายงานเรื่อง “Never Again: The UK’s Responsibility to Act on Atrocities in Xinjiang and Beyond” มีสาระสำคัญระบุถึงความจำเป็นของรัฐบาลอังกฤษและพันธมิตรเพื่อหยุดยั้งความโหดร้ายที่รัฐบาลของจีนกระทำขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (XUAR) ที่กระทำการทารุณกรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในซินเจียง บังคับการใช้แรงงาน การกักขังในค่ายกักกัน การลบล้างวัฒนธรรม การข่มขืน การบังคับให้ทำหมัน การแยกเด็กออกจากครอบครัว และมีการสอดแนมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งทั้งหมดได้รับการรับรองของรัฐบาลจีน

 

ระหว่างปี 2017–2019  ชาวอุยกูร์มากกว่า 80,000 คนถูกบังคับย้ายออกจากซินเจียงเพื่อทำงานในโรงงานทั่วประเทศจีน และอย่างน้อย 570,000 คนจากซินเจียงถูกบังคับให้เก็บฝ้าย และได้รับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย อังกฤษได้ใช้หลายช่องความร่วมมือระดับสากลเพื่อยับยั้งแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือชาวอุยกูร์ในซินเจียง

 

โดยช่องทาง 1.คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (UN Security Council) แต่ไม่สามารถทำได้เพราะจีนในฐานะ 1 ใน 5 สมาชิกถาวร “ยับยั้ง (Veto)” (สมาชิกถาวรคือ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและจีน) 2. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมี 44 ชาติได้ออกแถลงการร่วมประณามการกระทำในซินเจียง 3. “D10” กลุ่มประเทศประชาธิปไตย 10 ชาติได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่จะสนับสนุน

 

4. ประเทศ G7 โดยผ่านทางโครงการ “B3W (Build Back Better World)” เพื่อมาสู้กับ “BRI” ของประเทศจีน ซึ่งก็สนับสนุน 5.องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) ไม่สนับสนุนเพราะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศจีน 6.ยูเนสโก(UNESCO) เพราะเรื่องดังกล่าวไปเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ซึ่งในรายงานระบุว่ารัฐบาลจีนทำลายมัสยิดของชาวอุยกูร์ แต่ยูเนสโกตอบว่า “ไม่มีหลักฐาน”

 

ทำให้ “อังกฤษและพันธมิตร” ต้องผลักดันมาตรการดังนี้ 1.จะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วม “2022 Beijing Winter Olympics” 2.คว่ำบาตรเศรษฐกิจและไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ฝ้าย (เส้นด้าย ผ้าฝ้าย) มะเขือเทศและแผงโซลาร์เซลล์ 3.อนุญาตให้ชาวอุยกูร์ลี้ภัยมาอยู่ในอังกฤษได้ 4.ให้รัฐบาลอังกฤษดำเนินการเพื่อยุติอาชญากรรมและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

5.ให้มีการยุบค่ายกักกันในซินเจียงโดยทันที (รายงานระบุว่ามีชาวอุยกูร์อยู่ 1 ล้านคน) ยุติการบังคับทำหมันของสตรีและการแยกตัวของเด็ก และการบังคับใช้แรงงานจำนวนมาก 6.อังกฤษควรเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลจีนในการอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้าถึงซินเจียง 7.รัฐบาลควรเจรจากับศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อสอบสวนเชิงรุกต่ออาชญากรรมที่กระทำต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียงและที่อื่น ๆ 8.ห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ฝ้ายทั้งหมดที่ขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย

 

9.แนะนำธุรกิจให้มีการตรวจสอบย้อนกลับและการตรวจสอบแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ 10.หลีกเลี่ยงความร่วมมือทางเทคโนโลยีหรือการวิจัย 11. สร้างฐานข้อมูลการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะและข่าวกรองที่อัปเดตเป็นประจำ 12. อุปกรณ์ที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆ เช่น Hikvision และ Dahua ไม่ควรได้รับอนุญาตให้ดำเนินการภายในอังกฤษ และห้ามองค์กรและบุคคลทำธุรกิจกับบริษัทจีน ที่เกี่ยวข้องกับความโหดร้ายของซินเจียง

บอยคอต “ฝ้ายจีน” : ใครได้ ใครเสีย? ข้อพิพาทใหม่ค้าจีน-สหรัฐ-ตะวันตก ยื้อ

 

แล้ว “ใครได้ ใครเสีย” (ดูตาราง) ประเด็น “ฝ้ายซินเจียง” จะไม่จบแค่ใครได้ใครเสีย แต่จะกลายเป็น “ข้อพิพาททางการค้าใหม่ของโลก” เช่น เสื้อผ้าของบริษัท Uniqlo ที่ส่งไปขายสหรัฐฯ ถูกยึดเพราะไปใช้ฝ้ายจากซินเจียง หรือบริษัท Muji ของญี่ปุ่นยังคงใช้ฝ้ายจากซินเจียง เป็นต้น ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นการ “ตอบโต้ทางการค้า” ต่อไป