"กนอ." เปิดแผนแม่บทปี 66 ปั้นท่าเรือบก รองรับฮับโลจิสติกส์ในภูมิภาค

15 ส.ค. 2565 | 02:57 น.

"กนอ." เปิดแผนแม่บทปี 66 ปั้นท่าเรือบก รองรับฮับโลจิสติกส์ในภูมิภาค เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 เพื่อรองรับการขนส่งก๊าซ NGV และสินค้าเหลว ตลอดจนการประกอบกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง 

 

ทั้งนี้ กนอ.จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากท่าเรือบาเลนเซีย มาประกอบการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมอัจฉริยะที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Smart and Carbon Neutral Industrial Port) ตามเป้ายุทธศาสตร์ปี 2566 ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านสาธารณูปโภค (IEAT4.0) และนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ให้บริการและสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ 

 

ซึ่งแผนแม่บทนี้จะนำไปใช้ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) เป็นพื้นที่นำร่อง รวมถึงเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมโดยใช้ข้อมูล (Data Driven Management) ให้แก่นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศไทย เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

นายวีริศ กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาได้เดินทางไปศึกษาดูงานการผลิตน้ำจืดจากทะเล และการบริหารจัดการท่าเรือ ณ ประเทศสเปน ภายใต้ภารกิจใน 3 ประเด็นหลัก คือ การเยี่ยมชมท่าเรือบาเลนเซีย เยี่ยมชมระบบการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล (Desalination) ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการบริหารจัดการท่าเรือบก และระบบการขนส่งแบบ multimodal

 

สำหรับท่าเรือบาเลนเซีย อยู่ภายใต้การบริหารของการท่าเรือเมืองบาเลนเซีย เป็น 1 ในท่าเรือยุโรปที่มีปริมาณการขนส่งมากที่สุด และติดอันดับ Top 20 ในปี 2021 จากการประเมินของ World Connectivity Index  (CGI) โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) 

 

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

และเป็นท่าเรือที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม Port Community System (PCS) หรือระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและเอกชนมาใช้บริหารจัดการท่าเรือในรูปแบบ Smart Port เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแบบลดการใช้เอกสาร (Paperless) และเป็น One Stop Point สำหรับผู้ใช้บริการ รวมทั้งยังมียุทธศาสตร์ลดการปลดปล่อยคาร์บอน (Zero Emissions) ภายในปี 2030 ด้วยการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ (Digital Transformation)

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาคมการผลิตน้ำจืดจากทะเล และการนำน้ำกลับมาใช้แห่งสเปน (La Asociacion Espanola de Desalacion y Reutilizacion - AEDyR) เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

ทั้งการคัดเลือกพื้นที่ตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล อัตรากำลังการผลิตที่เหมาะสม การคัดเลือกเทคโนโลยี ผลกระทบการระบายน้ำทิ้ง และการศึกษาในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และการลงทุน 

 

สำหรับพื้นที่ EEC สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.)ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น พบว่า กระบวนการ RO หรือ Reverse Osmosis ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนน้ำทะเลผ่านสู่ระบบเยื่อกรองด้วยแรงดันสูง เป็นกระบวนที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด สามารถใช้ร่วมกับพลังงานทางเลือกได้ และมีความยั่งยืนมากกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ

 

"กนอ." เปิดแผนแม่บทปี 66 ปั้นท่าเรือบก รองรับฮับโลจิสติกส์ในภูมิภาค

 

อีกทั้งยังเป็นระบบที่ได้รับการพัฒนาจนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ต่ำกว่ากระบวนการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่เหมาะสมสำหรับตั้งโรงผลิตน้ำจืดจากทะเล อยู่บริเวณพื้นที่มาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

 

อย่างไรก็ดี ยังประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการบริหารจัดการท่าเรือบกและระบบการขนส่งแบบ multimodal ในบริเวณเขตอุตสาหกรรมที่เป็นศูนย์กลางระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อนำรูปแบบมาปรับใช้ในการดำเนินการก่อสร้างและให้บริการท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากเล็งเห็นประสิทธิภาพการให้บริการของท่าเรือบก (Dry Port) ของสเปน

 

ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบท่าเรือบกเพื่อสนับสนุนการเป็นโลจิสติกส์ด้านการขนส่ง โดยการอำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งระหว่างประเทศด้วยการลดภาระงานของท่าเรือทางทะเลและให้บริการด้านการขนส่งด้วยระบบรางหรือถนนที่มีประสิทธิภาพสูง