ไทยดัน “Monkey Free Plus” กู้ส่งออกกะทิ 1.3 หมื่นล้าน

06 ส.ค. 2565 | 10:47 น.

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กางแผนสู้ศึก โลกแบน “ลิงเก็บมะพร้าว” กระทบตลาดกะทิไทยทรุด งัด “Monkey Free Plus” กู้ส่งออก 1.3 หมื่นล้าน เอกชนขานรับเดินหน้าฉายภาพลักษณ์ใหม่ทั่วโลก สร้างความเชื่อมั่นคู่ค้า-ผู้บริโภคต่างประเทศ

จากผลกระทบจากข้อกล่าวหาขององค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรมของสหรัฐอเมริกา (People  for the Ethical treatment of Animals : PETA)ระบุ การเก็บเกี่ยวมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บเป็นการทรมานสัตว์ (คลิกอ่าน) ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมะพร้าวของไทยในการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศซ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แคนาดา และกลุ่มประเทศในยุโรป 

 

กรมวิชาการเกษตร มิได้นิ่งนอนใจ ได้ตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด และสนับสนุนการแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมการผลิตมะพร้าวลูกผสมต้นเตี้ยและผลิตกล้ามะพร้าวเพื่อส่งเสริมการปลูกประชากรมะพร้าวรุ่นใหม่ ที่เก็บเกี่ยวโดยไม่ต้องใช้ลิง อย่างไรก็ตามผลกระทบจากปัญหาข้างต้นก็ยังมีต่อเนื่อง

 

ไทยดัน “Monkey Free Plus” กู้ส่งออกกะทิ 1.3 หมื่นล้าน

 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า ได้มอบหมายให้ นายสมบัติ ตงเต๊า  รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หารือกับภาคเอกชน (บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว และ บริษัทชีวาดีโปรดักส์) รวมถึงชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ล่าสุดกรมวิชาการเกษตร มีแผนจัดทำ “Monkey Free Plus”  ซึ่งนอกจากการรับรองสวนมะพร้าวให้เข้าสู่ระบบผลิตพืชอาหารปลอดภัยแล้ว

 

ไทยดัน “Monkey Free Plus” กู้ส่งออกกะทิ 1.3 หมื่นล้าน

 

ยังเพิ่มในเรื่องของการรับรองว่ามะพร้าวแปลงผลิตนี้ ไม่ได้ใช้ลิงในการเก็บเกี่ยว คาดการดำเนินการครั้งนี้จะช่วยการันตีได้ว่า ผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ใช้มะพร้าวจากแปลงรับรอง “Monkey Free Plus”  ไม่มีการใช้ลิงในการเก็บ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ ซึ่งจากการประชุม ภาคเอกชนและชมรมฯ เห็นด้วย และจะให้ความร่วมมือในการดำเนินการนำร่องก่อน

 

โดยภายในเดือนกันยายนนี้ บริษัท เทพผดุงพรฯ จะจัดอบรมชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรและล้งที่จำหน่ายมะพร้าวให้บริษัทฯ โดยร่วมกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับล้งและลูกสวน ในการเข้าสู่ระบบการตรวจรับรอง Monkey Free Plus ซึ่งจะเป็นแนวทางไปสู่การผลิตมะพร้าวแบบยั่งยืนและปราศจากการทรมานสัตว์ 

 

ไทยดัน “Monkey Free Plus” กู้ส่งออกกะทิ 1.3 หมื่นล้าน

 

นายระพีภัทร์ กล่าวว่าอีกว่า ในเร็วๆ นี้จะเป็นประธานการประชุมหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ในการจัดทำ  Monkey Free Plus  และเพื่อนำไปร่วมประชุมสัมมนา International Workshop on GAP ซึ่งจะจัดที่รัฐเกรละ ประเทศอินเดีย ในวันที่ 2-4 กันยายน 2565 นี้ และในฐานะสมาชิกชมรมมะพร้าวนานาชาติ (ICC) จะได้นำเรื่องการจัดทำ Monkey Free Plus ไปหารือกับ Dr.Jelfina C. Alouw เลขาธิการชมรมมะพร้าวนานาชาติ ที่สำนักงานเลขาธิการ ซึ่งตั้งอยู่ที่ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

 

ไทยดัน “Monkey Free Plus” กู้ส่งออกกะทิ 1.3 หมื่นล้าน

 

ก่อนการจัดประชุมคณะผู้บริหาร หรือ ICC Session/Ministerial Meeting ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อให้บรรจุเป็นนโยบายเพื่อการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ การทำ "Monkey Free Plus" ให้กว้างขวางขึ้น โดยจะเชิญชวนประเทศสมาชิกอีก 19 ประเทศ ของชมรมมะพร้าวนานาชาติ ร่วมดำเนินการรับรอง "Monkey Free Plus" เช่นเดียวกับประเทศไทย

 

ไทยดัน “Monkey Free Plus” กู้ส่งออกกะทิ 1.3 หมื่นล้าน

 

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การที่กรมวิชาการเกษตรมาช่วยแก้ปัญหานี้ เป็นทางหนึ่งที่ช่วยได้ จากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเองได้ผลักดันการรับรองฟาร์มมะพร้าว ซึ่งทำกันมา 2 ปีแล้ว แต่ถ้ามีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการมาช่วยออกแบบโลโก้ หรือกำกับดูแล น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าหรือผู้บริโภคในต่างประเทศได้ดีกว่า และสามารถยืนยันซ้ำได้อีกรอบว่าสินค้าจากมะพร้าวไทยไม่ใช้แรงงานลิง ซึ่งความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาครั้งนี้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศด้วย

 

ก่อนหน้านี้มีรายงานเรื่องการใช้ลิงอย่างทารุณเพื่อเก็บมะพร้าวถูกเผยแพร่ออกไป พบว่ามีห้างร้านในสหรัฐฯและยุโรปไม่ต่ำกว่า 25,000 ห้างได้ยุติการจำหน่ายกะทิแบรนด์ดังจากไทย ผู้บริโภคบางส่วนก็ยุติการซื้อ หลัง PETA รายงานว่า กะทิไทยเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการทารุณสัตว์ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกะทิของไทยเป็นอย่างมาก

 

“สินค้ากะทิไทย” เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงมีการส่งออกมากโดยปี 2560-2564 มีการส่งออกเฉลี่ยปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท  โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบันห้างในสหรัฐฯ มีการยุติการขายสินค้ากะทิไทย กระทบต่อการส่งออกมากเนื่องจากไทยมีการส่งออกกะทิไปตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออก