ปากช่อง"ทุเรียนGI"ดันโคราชผงาดอีกแหล่งผลิตใหญ่

02 ส.ค. 2565 | 08:58 น.

ทุเรียนปากช่อง"เนื้อแห้ง นุ่มลิ้น กลิ่นไม่แรง"สวนสุดท้ายตัดแล้วปีนี้ ได้ทั้ง GAP และ GI  ดันทุเรียนโคราชผงาดอีกหนึ่งแหล่งผลิตใหญ่ ปั้นรายได้สะพัด 500 ล้าน คาดอีก 5 ปีโตเต็มที่ทะลุพันล้านบาท เตรียมตั้งสมาคมผู้ส่งออกทุเรียนรองรับ 

วันที่ 2 ส.ค.2565  นางน้ำเงิน  ยศสูงเนิน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน เยี่ยมชมสวนทุเรียนสวนสุดท้ายของอำเภอปากช่อง  จ.นครราชสีมา พร้อมเปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 4-5 อำเภอ คือ  ปากช่อง เสิงสาง ครบุรี และ หนองบุญมาก เป็นเส้นทางทุเรียน 

 

ปีนี้ทุเรียนให้ผลผลิตแล้วมีประมาณ 5,000 ไร่ จุดใหญ่อยู่ที่ อ.ปากช่อง ประมาณ 2,000 ไร่ ส่วนที่หนองบุญมาก ครบุรี เสิงสาง รวมอีกประมาณ 3,000 ไร่ แต่ละพื้นที่มีการจัดงานกระตุ้นตลาดทุเรียนในทุกพื้นที่ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับจังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 500 ล้านบาท ขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูแล้ว 

ปากช่อง"ทุเรียนGI"ดันโคราชผงาดอีกแหล่งผลิตใหญ่

ปากช่อง"ทุเรียนGI"ดันโคราชผงาดอีกแหล่งผลิตใหญ่

สำนักงานเกษตรจังหวัดได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกทุกเรียน เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนโดยการทำแปลงใหญ่ทุเรียน โดยสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ  และภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และจองที่หน้าสวน ก็จะทำให้การปลูกทุเรียนในจังหวัดนครราชสีมาขยายผลออกไป โดยคาดว่า 3-5 ปีนี้ผู้บริโภคจะมีทุเรียนโคราชไว้รับประทานมากขึ้นอีก เพราะจำนวนการปลูกและอายุก็จะครบรอบการออกผลผลิต จากปีนี้อาจจะยังออกน้อยอยู่ 

 

นางน้ำเงินกล่าวอีกว่า สำหรับความโดดเด่นของทุเรียนปากช่อง คือ เนื้อแห้ง เนียน ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง รสชาติคล้ายกับทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และที่ อ.ปากช่อง ทุเรียนยังได้รับรองการเป็น GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทำให้การยกระดับของทุเรียนเป็นที่รู้จักระดับประเทศมากขึ้น คาดว่า อีก 2-3 ปีความต้องการจะส่งถึงผู้บริโภค ปีนี้ผู้ผลิตยังไม่มีทุเรียนเพียงพอให้จะจำหน่าย ต้องมาสั่งจองกันนานเป็นปี

ปากช่อง"ทุเรียนGI"ดันโคราชผงาดอีกแหล่งผลิตใหญ่

ปากช่อง"ทุเรียนGI"ดันโคราชผงาดอีกแหล่งผลิตใหญ่

“อำเภอปากช่อง โดยสำนักงานเกษตรอำเภอปากช่อง จะรวบรวมผู้ประกอบการตั้งเป็นสมาคมผู้ส่งออกทุเรียนขึ้น โดยร่วมกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ ซึ่ง อ.ปากช่องจะได้เปรียบในเรื่องของภาคเอกชนและบริษัทต่าง ๆ  ที่เข้ามาให้การอบรม และศึกษาดูงาน คาดว่า 3-4 ปีนี้จะเห็นทุเรียนที่โคราชส่งออกต่างประเทศด้วย ตอนนี้ตลาดต่าง ๆ ประเทศโดยเฉพาะจีนเริ่มเข้ามาแล้ว” 

 

นางน้ำเงิน กล่าวต่อว่า ตอนนี้ทุเรียนถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สำหรับเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมานอกจากการทำพืชไร่ ตอนนี้หลายพื้นที่ก็เริ่มนำทุเรียนเข้ามาปลูกแซมพืชชนิดอื่น ๆ และเอาจริงเอาจังกับการทำสวนทุเรียน เนื่องจากเห็นรายได้ที่เกิดขึ้น และลักษณะภูมิประเทศยังเอื้อต่อการปลูกทุเรียน ที่ให้ผลผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง คาดว่าอีกไม่นานจากนี้ ทุเรียนจะทำรายได้ให้กับโคราชถึงปีละ 1,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน

ปากช่อง"ทุเรียนGI"ดันโคราชผงาดอีกแหล่งผลิตใหญ่

ด้านนายบุญธรรม โสดานิล เกษตรกรวัย 60 ปีเจ้าของสวนทุเรียนแม่บานเย็น ม.2  ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียง 2 ไร่ ปลูกทุเรียน 100 ต้น สร้างรายได้ปีละกว่า 500,000บาท ได้นำชมสวนทุเรียน ซึ่งเหลือผลผลิตในสวนเพียงไม่กี่ต้น  โดยนายบุญธรรม บอกว่า  จากความชอบกินทุเรียนของภรรยาและชอบปลูกต้นไม้ ตนจึงใช้พื้นที่หลังบ้าน ที่มีเพียง 2 ไร่มาปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ แต่ที่ออกผลผลิตแล้วมี 6 สายพันธุ์ ทั้งกระจิบ ก้านยาว หลงลับแล หลินลับแล นกจิบ และหมอนทอง เมื่อ 10 ปีก่อน 

 

โดยดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ทำสวนให้สะอาด ไม่ใช้สารเคมี บำรุงรักษาตามหลักการที่เจ้าหน้าที่เกษตรแนะนำ ซึ่งได้มาตรฐาน GAP และ GI โดยให้ผลผลิตปีละ 3 ตัน ทุเรียนต้นหนึ่งสามารถให้ผลผลิตได้มากสุดที่เคยทำได้ประมาณ 70-80 ลูกต้นหนึ่งทำรายได้สูงประมาณ 20,000-30,000 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จองข้ามปี ตลาดหลักคือขายหน้าสวน ซึ่งก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า โดยทุเรียนจะออกผลผลิตและตัดได้ ตั้งแต่เดือน พ.ค.- ต้นเดือน ส.ค. โดยสวนทุเรียนแม่บานเย็นจะเน้นทุเรียนแก่จัดถึงจะตัดขาย

ปากช่อง"ทุเรียนGI"ดันโคราชผงาดอีกแหล่งผลิตใหญ่

ด้านนางสาวดวงใจ พุทธศัยยา อายุ 51 ปี เจ้าของสวนทุเรียนถ้ำค้างคาว ตั้งอยู่หมู่ 2 ต.วังกระทะ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จากพนักงานตลาดหลักทรัพย์ผันตัวมาเป็นเกษตรกร เปิดเผยว่า จากพื้นที่ปลูกอ้อยและยางพาราของครอบครัว ตนเองได้ปรับมาปลูกทุเรียนจำนวน 62 ไร่ทุกสายพันธุ์ รวมประมาณ 3,000 ต้น ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง  ขณะนี้ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 10 ไร่ หรือ 100 ต้น สร้างรายได้กว่า 100,000 บาท  อีก 4 ปีข้างหน้าทุเรียนจะให้ผลผลิต คาดว่าอย่างต่ำ 100 ตัน 

 

สำหรับทุเรียนสวนถ้ำค้างคาวรสชาดจะเข้มข้นหรือเฉียบกว่าสวนอื่น ๆ ในอ.ปากช่อง ซึ่งเราเป็นทุเรียนที่ได้มาตรฐาน GAP และ GI แล้ว  นอกจากนี้เรายังมีสวนเงาะ มังคุด ลองกอง อโวคาโด ที่ปลูกไว้ให้กับลูกค้าที่เข้ามาชมสวนทุเรียนได้ลิ้มรสผลไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วย

ปากช่อง"ทุเรียนGI"ดันโคราชผงาดอีกแหล่งผลิตใหญ่

สำหรับทุเรียนของสวนถ้ำค้างคาว จะใช้ทั้งอินทรีย์และเคมีผสมผสานกัน  หากผลผลิตออกทั้ง 3,000 ต้นจะมีการกระจายทุเรียนไปตามตลาดต่างๆ โดย 80 % จะส่งให้กับล้งที่เมืองจันทบุรี เพื่อกระจายไปทั่วประเทศและส่งออก  ส่วนอีกประมาณ 20% จะคัดเกรดพรีเมี่ยมขายในพื้นที่หรือหน้าสวน 

 

และเราจะทำเป็นที่นี่จุดชมวิวถ้ำค้างคาว ซึ่งมีค้างคาวออกบินออกมาเป็นล้าน ๆ ตัว และที่นี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยสำคัญของอำเภอปากช่อง โดยจะทำเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยว ส่วนราคาขายหน้าสวนปีนี้อยู่ที่ 180 บาท/ กก. มีทุเรียนไม่พอขาย อย่างไรก็ตามฝากเชิญชวนผู้บริโภคให้หันมาบริโภคทุเรียนปากช่องรับรองไม่ผิดหวังกับความอร่อยอย่างแน่นอน
ปากช่อง"ทุเรียนGI"ดันโคราชผงาดอีกแหล่งผลิตใหญ่