ทีดีอาร์ไอแนะรัฐ เลิกคุมราคาสินค้า ปล่อยกลไกตลาดทำงาน หวั่นลดผลิตยิ่งแพง

06 ก.ค. 2565 | 11:08 น.

“ทีดีอาร์ไอ” แนะรัฐเลิกคุมราคาสินค้า หวั่นผู้ประกอบการลดกำลังผลิต-ของขาดตลาด เชื่อของแพงไม่นานตลาดมีการแข่งขันราคาจะลดลงมาเอง ดีกว่าบิดเบือนกลไกตลาด และรัฐต้องตอกย้ำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจไทยมีสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องซื้อตุน

ในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง ชี้ทางออกสภาวะเงินเฟ้อและความมั่นคงทางด้านอาหาร จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง สภาวะเงินเฟ้อ ความมั่นคงทางอาหาร และทางออก ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลกความเสี่ยงในเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหารมีน้อย แต่จากต้นทุนการผลิตอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคเกษตรทำให้ประชาชนในประเทศได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น

 

ทีดีอาร์ไอแนะรัฐ เลิกคุมราคาสินค้า ปล่อยกลไกตลาดทำงาน หวั่นลดผลิตยิ่งแพง

 

ทั้งนี้ สินค้าจำนวนมากทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทยที่มีการปรับราคาขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ สถานการณ์โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน สภาวะโลกร้อน รวมถึง ล่าสุดสหรัฐอเมริกามีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ส่งผลให้เกิดการช็อกตลาดเงินทั่วโลก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น  เงินหลายประเทศรวมทั้งเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลให้สินค้านำเข้าทั่วโลกแพงขึ้น สินค้าหลายตัวจึงขอปรับราคา แต่ถูกมาตรการคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์คุมไว้

 

รศ.ดร.นิพนธ์ ชี้ว่า ในอนาคตหากยังคุมราคาสินค้า ที่สุดแล้วสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคจะขาดแคลน จะมีราคาที่สูงขึ้น คุณภาพสินค้าจะลดลง รัฐควรค่อย ๆ ปล่อยให้สินค้าต่าง ๆ ที่ต้นทุนสูงขึ้น และมีภาระเพิ่มขึ้นปรับขึ้นราคาได้แล้ว เนื่องจากเมื่อต้นทุนสูงขึ้นแต่เพิ่มราคาไม่ได้ ที่สุดผู้ประกอบการก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าป้อนตลาด ก็ลดกำลังการผลิต สินค้าก็จะมีราคาแพง สินค้าขาดแคลน จะเกิดความตระหนกและแห่กักตุนสินค้าในที่สุด

 

ทีดีอาร์ไอแนะรัฐ เลิกคุมราคาสินค้า ปล่อยกลไกตลาดทำงาน หวั่นลดผลิตยิ่งแพง

 

“ภาครัฐต้องเลิกควบคุมราคาอาหาร โดยยึดหลักราคาแพงดีกว่าขาดตลาด เพราะเมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้นจะเกิดแรงจูงใจ ทำให้ภาคเกษตรเร่งผลิตสินค้าออกมามากขึ้น และใช้เวลาไม่นานราคาก็จะลดลงได้ โดยภาครัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง แต่ปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานให้มากที่สุด ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างกัน ราคาจะลดลงเองตามธรรมชาติ”

 

ขณะเดียวกันรัฐต้องตอกย้ำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่า จะมีสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อสินค้ากักตุน ที่อาจเป็นสาเหตุของการทำให้สินค้าขาดแคลนได้ เช่น สินค้าข้าวสารบรรจุถุงในช่วงที่ผ่านมามีความกังวลในเรื่องของการปรับราคาจนทำให้มีการซื้อสินค้ากักตุน เป็นต้น