อุ้มราคาน้ำมัน ไปต่อหรือพอแค่นี้ ฟังเสียงนักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

03 พ.ค. 2565 | 23:00 น.

อุ้มราคาน้ำมัน ไปต่อหรือพอแค่นี้ ชวนมาฟังเสียงนักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กับการแก้ปัญหาน้ำมันเเพงของรัฐบาล มีข้อเสนออย่างไร

เพราะ "วิกฤติโควิด" ที่ยังอยู่ไปอีกนาน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัว ซ้ำเติมด้วยปัญหาราคาน้ำมันขึ้น ข้าวของแพง ประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก  

โดยรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน  ด้วยการตรึงราคา การอุดหนุนราคาต่อเนื่อง โดยรัฐจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

ล่าสุดเข้าสู่เดือนพฤษภาคม เรายังต้องเผชิญกับสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น เพราะวัตถุดิบขยับตามต้นทุน ค่าขนส่งปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน ผู้ประกอบการ ภาคส่วนต่างๆ อั้นไม่ไหว เดือดร้อนถึงผู้บริโภค

ขณะที่ภาครัฐก็พยายามตรึงราคา แก้ปัญหา ด้วยวิธีการ ทำให้ทุกฝ่ายหันไปจับตารัฐบาลว่ามีแผนรับ บรรเทาผลกระทบอย่างไร

การ "ตรึงราคาน้ำมันดีเซล" ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ให้เกิน ลิตรละ 30 บาท โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหลายหมื่นล้านบาท ในที่สุดอุ้มไม่ไหว คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อลิตร  

 

โดยหากไม่มีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาน้ำมันดีเซลคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 40 บาทต่อลิตร และจากการอุดหนุนเพียงครึ่งเดียวตามมติคณะรัฐมนตรี น่าจะทำให้เพดานการปรับราคาจะอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อลิตร หากในแต่ละรอบสัปดาห์ราคาน้ำมันตลาดโลกมีการปรับลดลง ก็จะมีการปรับเงินอุดหนุนและปรับเพดานราคาลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันต่อไป

 

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิต ยังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2565 ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. - วันที่ 20 พ.ค. 65 ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลบี 7 ลดลงจาก 5.99 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาทต่อลิตร

 

“ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ อธิบายว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำหน้าที่ลดความผันผวนของราคา แปลว่าราคาสูงก็จะเอาเงินไปอุดหนุน ส่วนเวลาราคาต่ำก็จะเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่ม

 

ดังนั้น ถ้าปัญหา คือราคาผันผวนระยะสั้นจะใช้กองทุนฯ ได้ ปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้น น่าจะรุนแรงเพราะจากเศรษฐกิจโลก และปัญหารัสเซียบุกยูเครน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จึงเป็นปัญหาพื้นฐานในระยะกลางถึงยาว เมื่อปัญหาเป็นปัจจัยพื้นฐานแล้ว การเข้ามาแทรกแซงของกองทุนจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะราคาไม่ได้ขึ้นๆลงๆ แต่ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน กองทุนจึงขาดทุนจำนวนมาก

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 26 เม.ย. 65 ติดลบ 56,278 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 31,976 ล้านบาท

 

มีเสียงวิพากวิจารณ์ว่าที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับการแก้ไขปัญหา แต่อาจเพราะมาตรการ ไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของปัญหาที่ลุกลามเกินเยียวยา  แล้วรัฐบาลมีทางเลือกอะไรบ้างในตอนนี้

 

ดร.นณริฏ ระบุว่า ตามความเห็นของนักวิชาการ มองว่า รัฐมี 2 ทางเลือก คือ การเข้าไปอุ้มโดยมีต้นทุน คือ ภาระงบประมาณ หรือไม่อุ้ม ปล่อยให้ราคาค่อยๆปรับและใช้กองทุนช่วยให้ราคาเพิ่มแบบช้าๆ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐเลือกวิธีการหลัง ดังนั้นอาจจะต้องรอดู 3-6 เดือน หากราคาแพงยาวขึ้นอาจจะต้องใช้งบประมาณมาช่วยเพิ่มจากปัจจุบัน โดยในมุมมองทางวิชาการก็เห็นด้วย ด้วยเหตุผลดังนี้  

  1. การแทรกแซงอุดหนุนที่มากเกินไปเป็นภาระต่องบประมาณในระดับที่สูง
  2. การช่วยเหลือแทรกแซงที่ราคาน้ำมันเป็นการแทรกแซงที่ต้นทาง กว่าผลประโยชน์จะถึงประชาชนก็มีกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์ก่อน
  3. ส่วนรั่วไหลสูง คือ มีคนที่ใช้รถดีเซลที่ไม่ใช่รถสาธารณะ หรือ รถขนส่งจำนวนมาก ประมาณร้อยละ 30 ของรถทั้งหมดที่ใช้ดีเซล
  4. ภาครัฐมีทางเลือก คือ การอุดหนุนเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น คนถือบัตรสวัสดิการ คนขับรถรับจ้าง จึงสามารถออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพได้ดีกว่า

 

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวทางออก ดร.นณริฏ  ระบุว่า รัฐควรหันมาใช้ renewable energy มากขึ้น การลดการใช้พลังงาน และการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเปราะบาง