หอฯสงขลาฟื้น”ไก่ทอดหาดใหญ่” ซอฟต์พาวเวอร์บูมเศรษฐกิจ

04 ก.ค. 2565 | 09:55 น.

ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาประกาศฟื้น“ไก่ทอดหาดใหญ่” ซอฟต์พาวเวอร์กระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานคุณภาพ พัฒนาผู้ประกอบการ ขายแฟรนไชส์   ด้วยแบรนด์"ไก่ทอดหาดใหญ่ โดยหอการค้าสงขลา"  มั่นใจสร้างงานสร้างอาชีพเกิดขึ้นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายเดือนมิ.ย.2565  หอการค้าจังหวัดสงขลา ได้จัดงาน “มหกรรมไก่ทอดหาดใหญ่” ขึ้น ที่บริเวณสวนหย่อมศุภสารรังสรรค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานพิธีเปิด

 

นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดสงขลามีนโยบายฟื้นการพัฒนา“ไก่ทอดหาดใหญ่”ขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา โดยการพัฒนานี้มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณา คือ  1.ต้องการพัฒนาคุณภาพของไก่ทอด เพื่อนำไปสู่การขายแฟรนไชส์ไก่ทอด ไม่ใช่เพียงแค่เอาไก่มาทอดขาย ต้องมีการพัฒนายกระดับ 

 หอฯสงขลาฟื้น”ไก่ทอดหาดใหญ่” ซอฟต์พาวเวอร์บูมเศรษฐกิจ

 

 หอฯสงขลาฟื้น”ไก่ทอดหาดใหญ่” ซอฟต์พาวเวอร์บูมเศรษฐกิจ

2.จะต้องมีการจัดอบรม ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการไก่ทอดหาดใหญ่ ของหอการค้าจังหวัดสงขลา จะต้องผ่านการอบรม เพื่อให้มีมาตรฐานทั้งในเรื่องของการทอดไก่ และมาตรฐานการทำการตลาดในอนาคต และ 3.ต้องมีการสร้างเครือข่าย คือต้องมีเรื่องของแฟรนไชส์

 

"วันก่อนมีคนมาถามว่า อะไรกันหอการค้าจังหวัดสงขลาจะมาทำเรื่องไก่ทอดหาดใหญ่ ผมจึงบอกว่าคุณยังไม่เข้าใจ ผมไม่ได้จะเอาไก่มาทอดขาย แต่ถ้าทำสำเร็จ คนที่เข้าร่วมการอบรมกับโครงการ และสามารถยกระดับไก่ทอดหาดใหญ่ขึ้นมา เราจะให้ติดยี่ห้อไก่ทอดหาดใหญ่ ที่ออกโดยหอการค้าจังหวัดสงขลา"

 

นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา

นายธนวัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะมีการมอบรถเข็น สำหรับผู้ผ่านหลักสูตรนี้  โดยมีการแข่งขัน สมมุติว่ามีราง 5 รางวัลสำหรับแต่ละปี ซึ่งรถเข็นจำนวน 5 คันต่อปีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะเป็นการาสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยมีมาตรฐานเรื่องของคุณภาพเดียวกัน ที่เป็นเอกลักษณ์ของไก่ทอดหาดใหญ่ นั่นก็คือ กรอบนอกนุ่มใน มีหอมเจียว มีข้าวเหนียว สามารถรับรองคุณภาพได้ มีการควบคุมคุณภาพ

 

“ซึ่งหากมีการจัดโครงการดังกล่าวทุก ๆ ปี ก็จะทำให้เกิดผู้ประกอบการใหม่เพิ่มขึ้น หลังจากนั้นใครที่ต้องการแฟรนไชส์ ไก่ทอดหาดใหญ่ ต้องมาซื้อจากหอการค้าจังหวัดสงขลา ซึ่งจะขายไม่แพง เพราะเราเอารายได้มาพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน ถึงจะเอาป้ายของคำว่าไก่ทอดหาดใหญ่ไปใช้ได้ ไปติดหน้าร้านได้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ"

 

ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเมื่อถึงจุดที่ไก่ทอดหาดใหญ่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ก็จะทำการเชิญมิชลินไกด์มาชิม ซึ่งหากได้รับการรับรองจากมิชลินไกด์ได้ จะทำให้"ไก่ทอดหาดใหญ่" โด่งดังไปทั่วโลก กลายเป็นแบรนด์ของหาดใหญ่ ที่ไปตรงไหนใคร ๆ ก็รู้จัก และก็ไปตรงไหนแล้วรสชาติจะเหมือนกันทุกที่

 

แต่วันนี้คำว่า"ไก่ทอดหาดใหญ่" เราไปกินตรงไหนแล้วบอกว่าเป็นไก่ทอดหาดใหญ่ได้บ้าง บางที่มีขายไก่ทอดหลายร้าน แต่จะมีสักร้านมั๊ยที่บอกว่าไก่ทอดหาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานที่ยังไม่เป็นเกณฑ์เดียวกัน บางร้านกัดเนื้อเข้าไปยังเจอเลือดแดงอยู่ แสดงว่ามาตรฐานยังไม่ได้ ยังให้ติดป้ายไม่ได้ 

 หอฯสงขลาฟื้น”ไก่ทอดหาดใหญ่” ซอฟต์พาวเวอร์บูมเศรษฐกิจ

“สรุปคือเราต้องการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ไก่ทอดหาดใหญ่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ในการฟื้นเศรษฐกิจของหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาได้ ซึ่งทำได้”

 

ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวและว่า เป้าหมายของเราคือ ให้ร้านไก่ทอดมีแบรนด์ของเราติดเข้าไป คือจะมีป้ายมีโลโก้"ไก่ทอดหาดใหญ่ โดยหอการค้าจังหวัดสงขลา" ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เพราะมีมาตรฐานเดียวกัน  

 

ด้านนายชิต สง่ากุลพงศ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการ ไก่ทอดหาดใหญ่ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เห็นด้วยและสนับสนุน ที่หอการค้าจังหวัดสงขลา จะเป็นเจ้าภาพ ในการเดินหน้าพัฒนาไก่ทอดหาดใหญ่ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจของหาดใหญ่ จ.สงขลา

 

“ที่มาของโครงการไก่ทอดหาดใหญ่ ที่ดำเนินการโดยหอการค้าจังหัดสงขลาที่ผ่านมา  เกิดขึ้นในยุคที่คล้าย ๆ กับปัจจุบันที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ มีสื่อส่วนกลางนำเสนอทำนองเดียวกันกับวันนี้ ว่าหาดใหญ่ถึงทางตัน โดยสื่อส่วนกลางจัดให้มีการจัดสัมมนา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เพื่อระดมสมองในการฟื้นเศรษฐกิจหาดใหญ่ในขณะนั้น   ซึ่งผมก็เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนั้นในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา

 

“ผมก็เลยพูดถึงเรื่องไก่ทอดขึ้นมา เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของหาดใหญ่ แต่ว่าเราเองเราก็ไม่รู้ และเราไม่ได้เรียกไก่ทอดหาดใหญ่ เราเรียกไก่ทอดเฉย ๆ แต่คนกรุงเทพฯหรือมาจากที่อื่นเป็นคนเรียกไก่ทอดหาดใหญ่”

 

ทุกครั้งที่เพื่อนมาจากกรุงเทพฯหรือมาจากพื้นที่อื่น เขาก็จะให้พาไปกินไก่ทอดหาดใหญ่ เราก็พาไป แต่พาไปร้านที่ไม่ซ้ำกัน เพราะไม่มีร้านไหนที่ชื่อร้านไก่ทอดหาดใหญ่สักร้าน  ผมก็เลยเล่าเรื่องนี้บนเวทีสัมมนาฟัง ซึ่งทุกคนก็เห็นตรงกันว่า เรามาทำไก่ทอดหาดใหญ่ ก็เลยมานั่งทางคิดกันว่า เพื่อเป็นจุดขายใหม่ของหาดใหญ่ ที่จุดขายเดิมคือสินค้าหนีภาษี ที่ไม่มีอีกแล้ว 

 

ขณะนั้นมีท่านสมพร ใช้บางยาง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และดร.ไพร พัฒโน ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลหาดใหญ่ ในขณะนั้น ท่านผู้ว่าฯสมพรบอกว่า หอการค้าจังหวัดสงขลาดำเนินการเลย หลังจากนั้นจึงได้ปรึกษาคุณสุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าตรัง ว่าทำอย่างไรหมูย่างตรังจึงโด่งดัง และเป็นที่รู้จัก ท่านก็แนะนำจึงได้ไอเดียมา

 

โดยเริ่มการจัดกิจกรรมมหกรรมไก่ทอดหาดใหญ่ ครั้งที่ 1 ซึ่งตอนนั้นคิดว่ากำหนดเป็นมหกรรมไก่ทอดประจำปี เทศกาลของหาดใหญ่ไปเลย เหมือนกับเทศกาลหมูย่างตรัง แต่ก็ติดปัญหาเมื่อทางบริษัทออแกไนซ์ ที่รับจัดงานมาคุยเพื่อทำเป็นธุรกิจ โดยการจัดเป็นอีเว้นท์ ให้มีการเปิดร้านขายไก่ทอดในงานเท่านั้น

 

“ผมจึงตัดสินใจหยุด เพราะไมได้ตรงกับที่สิ่งเราต้องการ และที่ตั้งเป้าหมายไว้ ที่ต้องการจะยกระดับและพัฒนาไก่ทอดหาดใหญ่ เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง”

 

ฉะนั้น การที่หอการค้าจังหวัดสงขลา จะเป็นเจ้าภาพสำหรับการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานไก่ทอดหาดใหญ่อีกครั้ง เชื่อว่าจะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน และจะต้องไม่ทำแค่ทำอีเวนท์เท่านั้น จะต้องคิดให้ไกลว่า อีเวนท์นั่นคือการพัฒนาและยกระดับมาตรฐาน ที่ยังคงเอกลักษณ์ของไก่ทอดหาดใหญ่ไว้ ต้องทำให้เมืองหาดใหญ่เป็นเมืองไก่ทอด 

 

“ตอนนั้นพิธีเปิด ท่านวิษณุ เครืองาม ท่านเป็นคนมาเปิด ท่านก็ให้ไอเดียแล้วว่า มันต้องเป็นเหมือนกันทุกที่ท่านก็ตั้งชื่อให้แล้ว Hat Yai  Fried Chicken  ต้องมี Hat Yai Fried Chicken Festival เกิดขึ้น”