ส่งออกอาหารโตแรง ฝ่าพายุเงินเฟ้อ- ศก.โลกถดถอย สู่เป้า 1.2 ล้านล้าน

01 ก.ค. 2565 | 20:08 น.

อาหารไทยโตแรง 4 เดือนส่งออกพุ่ง 5.2 แสนล้าน อานิสงส์บาทอ่อน-โลกตื่นแห่กักตุนอาหาร มันสำปะหลัง ผลไม้ อาหารกระป๋อง ไก่ ข้าว นำ 5 อันดับแรก ลุ้นทั้งปีฝ่า ศก.โลกถดถอย-เงินเฟ้อพุ่ง ทะลุเป้า 1.2 ล้านล้าน ยางพาราหวังราคากลับมาดี จีนคลายล็อกดาวน์ ปาล์มห่วงเลิกผสมดีเซล ฉุดราคาร่วง

 

เงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ามากสุดรอบ 5 ปีในเวลานี้ ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุน สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในราคาที่สูงขึ้น และอาจส่งผลต่อการนำเข้าที่จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่อีกด้านของบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรต่อเนื่องอาหารที่ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศ มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และจะช่วยนำเงินตราเข้าประเทศได้มากขึ้น

 

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 4 เดือนปีนี้ ไทยส่งออกสินค้าอาหารแล้ว 5.26 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออกได้ดี และมีอัตราการขยายตัวสูง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+28%), อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป (+16%), ไก่ (+16%), ข้าว (+36%), น้ำตาลทราย (+168%), อาหารสัตว์เลี้ยง (+37%) เป็นต้น

 

ส่งออกอาหารโตแรง ฝ่าพายุเงินเฟ้อ- ศก.โลกถดถอย สู่เป้า 1.2 ล้านล้าน

 

มัน-ไก่-น้ำตาลพุ่งยกแผง

โดยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่การส่งออกขยายตัวสูง จากเป็นได้ทั้งอาหารคนในรูปแป้งมัน และยังสามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนข้าวสาลี ข้าวโพดที่เวลานี้มีราคาสูงจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลซัพพลายเชนโลกขาดแคลน, อาหารทะเลกระป๋องเริ่มขาดแคลน และมีการนำเข้าเพื่อตุนสต๊อกมากขึ้น, ไก่ จากตลาดยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเป็น 2 ตลาดหลักมีความต้องการนำเข้าเพิ่ม ล่าสุดมีโอกาสขยายตลาดส่งออกมากขึ้นจากซาอุดิอาระเบียได้อนุญาตนำเข้าไก่แปรรูปจาก 11 โรงงานของไทยที่ผ่านการรับรองหลังฟื้นความสัมพันธ์ ส่วนมาเลเซียระงับการส่งออกสินค้าไก่ ทำให้บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ หันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น

 

น้ำตาล ขยายตัวสูง จากทั่วโลกเปิดประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินตามปกติ การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารที่ต้องใช้น้ำตาลขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยง (ส่วนใหญ่เป็นอาหารแมวและสุนัข) ขยายตัวมาก จากในประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมเลี้ยงสัตว์แทนการมีลูก และเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนผู้สูงวัยเพื่อคลายเหงา

 

อย่างไรก็ดีในส่วนของการส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง ที่ขยายตัวลดลงช่วง 4 เดือนแรก (-9%) จากทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกหลัก และมีตลาดหลักที่จีนมีอุปสรรคด้านการขนส่งจากผลกระทบนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ของจีน เวลานี้สถานการณ์คลี่คลายได้ขึ้น คาดจะส่งออกได้มากขึ้น

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

ฝ่าปัจจัยเสี่ยงสู่เป้า 1.2 ล้านล้าน

สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารในช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กระทบเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น และกระทบกำลังซื้อของแต่ละประเทศลดลง นโยบายการคลังของไทยที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังมีหนี้สินสะสมค้างอยู่ ขณะเดียวกันจะทำให้การลงทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นหากจะปรับขึ้นดอกเบี้ยขอให้ค่อยเป็นค่อยไป

 

ขณะที่มีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่า และหลายประเทศคู่ค้ายังมีการนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะกลับมาฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ และเปิดรับนักท่องเที่ยว คาดช่วงครึ่งหลังปีนี้การส่งออกอาหารของไทยจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่เชื่อว่าทั้งปีนี้ในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ที่ระดับ 5-8% และมูลค่าน่าจะเกิน 1.2 ล้านล้านบาท จากปี 2564 มีการส่งออก 1.1 ล้านล้านบาท และปีนี้ต้องลุ้นว่าไทยจะสามารถขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศผู้ส่งออกอาหารได้หรือไม่ จากปี 2563-2564 ไทยอยู่อันดับ 13 ของโลก (อันดับ 11 เบลเยียม และอันดับ 12 อินเดีย)

 

เช่นเดียวกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่กล่าวว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้รับอานิสงส์มากจากเงินบาทอ่อนค่า คาดทั้งปีนี้ทั้งในสินค้าข้าว ไก่ น้ำตาล อาหารกระป๋อง ยางพารา ผลไม้จะยังส่งออกได้ดี เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ

 

ยางพาราหวังทั้งปีโต 20%

นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกยางพารา 1.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.14 ล้านตัน มูลค่า 64,391 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งออกได้ 57,367 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% ซึ่งการส่งออกแง่ปริมาณเพิ่มขึ้นไม่มาก (+2.8%) แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นมากจากเงินบาทอ่อนค่า โดยทั้งปีนี้คาดการส่งออกยางพาราของไทยในแง่มูลค่าจะขยายตัวได้ 10-20% (ปี 2564 ส่งออกมูลค่า 1.76 แสนล้านบาท) จากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักคลายล็อกดาวน์ และกลับมาเร่งฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้มีการนำเข้ายางพาราเพิ่มขึ้น

 

หลักชัย  กิตติพล

 

“สำหรับราคายางพาราในประเทศที่ปรับตัวลดลง (ตัวอย่างราคาน้ำยางสด ณ โรงงานที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 29 มิ.ย. 65 อยู่ที่ 52.80 บาทต่อ กก.ลดลงจากปลายเดือนพ.ค.อยู่ที่ 66.80 บาทต่อกก. หรือลดลง 14 บาทต่อกก.) มาจากหลายปัจจัยเช่น ราคาถุงมือยางที่ต้องใช้น้ำยางผลิตปรับตัวลดลง จีนมีการล็อกดาวน์หลายเมืองใหญ่จากผลกระทบโควิด แต่ตอนนี้คลายล็อกดาวน์แล้ว คาดจะมีความต้องการยางพาราเพิ่มขึ้น ทำให้ราคายางในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป”

 

สวนปาล์มผวาลดผสมดีเซล

นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรสำคัญ โดยโลกต้องการใช้ปาล์มน้ำมันปีละ 72 ล้านตัน มีผู้ส่งออกรายใหญ่ 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย 45 ล้านตัน มาเลเซีย 25 ล้านตัน และไทย 3 ล้านตันต่อปี

 

ปัจจัยลบที่น่าห่วงเวลานี้คือ ปุ๋ยเคมีปรับราคาสูงขึ้นมาก เช่น ปุ๋ยยูเรีย ขนาด 50 กิโลกรัม เดิมกระสอบละ 345 บาท ขึ้นเป็น 1,800 บาท ปุ๋ย DAT 18460 จากกระสอบละ 775 บาท ขึ้นเป็น2,000 บาท และปุ๋ย MOP 0060 เดิม 625 บาท ขึ้นเป็น 1,800 บาท ถ้าไม่ใส่ปาล์มก็จะไม่ให้ผลผลิต อีกปัจจัยคือ นโยบายพลังงานทางเลือก ที่รัฐกำหนดให้มีการใช้น้ำมันปาล์มมาผสมในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ไบโอดีเซล ล่าสุดปรับลดเหลือ B5) หากผสมลดลงหรือยกเลิกผสมจะฉุดราคาปาล์มลงอีก

 

ส่งออกอาหารโตแรง ฝ่าพายุเงินเฟ้อ- ศก.โลกถดถอย สู่เป้า 1.2 ล้านล้าน

 

เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันรายใหญ่ระดับ 3,000 ไร่ ในพื้นที่ตรัง-กระบี่ กล่าวว่า หากรัฐบาลมีนโยบายลดสัดส่วน หรืออาจยกเลิกการผสมไบโอดีเซลในดีเซลจะฉุดราคาปาล์มน้ำมันลงไปอีก โดยหากต่ำกว่า 8 บาทต่อ กก. ชาวสวนปาล์มก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะเวลานี้ปุ๋ยแพงมาก ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่สูง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดรัฐบาลต้องยืนนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยผลิตไบโอดีเซลเป็นทางเลือก ซึ่งจะช่วยเหลือเกษตรกรได้

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3797 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม 2565