วิกฤติเงินเฟ้อสหรัฐฯไม่สะเทือนอาหาร “PJ US GROUP” ลุยนำเข้าสินค้าไทยเพิ่ม

19 มิ.ย. 2565 | 11:17 น.

วิกฤติเงินเฟ้อสหรัฐฯไม่สะเทือนสินค้าอาหาร PJ US GROUP ผู้นำเข้าสายพันธุ์ไทยเร่งขยายโอกาสทางการตลาด ลุยนำเข้าสินค้าไทยเพิ่ม ดันข้าวอัดไนโตรเจน-ข้าวออร์แกนิคพรีเมียมเจาะ 5 หมื่นสาขาห้างค้าปลีกมะกัน ชี้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน-ค่าระวางเรือสูงยังหนัก

 

จากเวลานี้โลกได้เกิดวิกฤติพลังงานและขาดแคลนอาหาร มีปัจจัยสำคัญจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเนื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) การผลิตสินค้าทั่วโลกขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของประชาชนทั่วโลกสูงสุดในรอบหลายสิบปี ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ในเดือนพฤษภาคม 2565 ขยายตัว 8.6% สูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์เพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำลง

 

นายประมุข  เจิดพงศาธร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท PJ US GROUP ผู้จัดหาและนำเข้าสินค้าอาหารไทยรายใหญ่เพื่อจัดจำหน่ายในสหรัฐฯ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้เวลานี้เงินเฟ้อในสหรัฐฯและค่าครองชีพของชาวอเมริกันจะสูงมาก ส่งผลต่อการชะลอการจับจ่ายใช้สอยเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก แต่ไม่ส่งผลกระทบกับสินค้าอาหาร ซึ่งมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพมากนัก 

 

ประมุข  เจิดพงศาธร

 

ทั้งนี้ในส่วนของพันธมิตรทางการค้าของกลุ่ม ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า และเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ ยังมีการสั่งซื้อสินค้าจากทางกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่มีแบรนด์ทั้งแบรนด์ของลูกค้า และแบรนด์ของทางกลุ่มที่เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อมั่นในคุณภาพที่ติดตลาดแล้วยังขายได้ต่อเนื่อง (สินค้าที่ทาง PJ US GROUP นำเข้า และจัดจำหน่าย ปัจจุบันมี 6 กลุ่มได้แก่ เครื่องดื่ม, น้ำผลไม้, ผักและผลไม้ กระป๋อง, ของว่างและผลไม้อบแห้ง, ข้าวสาร, ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค)

 

 “ช่วงที่ผ่านมาจากโควิดต่อเนื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือสูงขึ้น ล่าสุดน้ำมันแพงขึ้นอีก ค่าระวางเรือก็ขยับขึ้นอีก เช่น ไปอเมริกาจากตู้ระดับพันเหรียญ ขึ้นไปเป็น 1.5-2 หมื่นเหรียญ ไปออสเตรเลีย 2 พันเหรียญขึ้นไป 5 พันเหรียญ ไปยุโรปจาก 8 พันขึ้นไปหมื่นเหรียญ เป็นต้น จากความต้องการเรือสูงเพื่อนำเข้าสินค้าไปตุน”

 

วิกฤติเงินเฟ้อสหรัฐฯไม่สะเทือนอาหาร “PJ US GROUP” ลุยนำเข้าสินค้าไทยเพิ่ม

 

ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาจากนโยบายคุมโควิดให้เป็นศูนย์ (Zero Covid) ของจีน มีการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ทำให้เรือเข้า-ออกท่าเรือเซี่ยงไฮ้เกิดติดขัด (ปริมาณและมูลค่าส่งออกของจีนมีสัดส่วนกว่า 20% ของโลก) กระทบต่อการค้าและห่วงโซ่การผลิตของจีนและของโลก มีตู้สินค้าไปตกค้างเป็นแสน ๆ ตู้ ซึ่งเวลานี้แม้จีนจะคลายล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาความติดขัดในเรื่องต่าง ๆ อยู่มาก

 

 

อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มยังมีการจัดหาและนำเข้าสินค้าอาหารไทยเพื่อป้อนให้กับคู่ค้าในสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง จากคู่ค้าให้ความเชื่อมั่นและไว้ใจ สั่งอะไรก็ทำได้ โดยลูกค้ายอมจ่ายค่าสินค้าในราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น ล่าสุดทางกลุ่มจะรุกทำตลาดข้าวออร์แกนิคซึ่งเป็นเทรนด์ของคนรักสุขภาพ และเทรนด์โลกมากขึ้น โดยคู่ค้าของบริษัทมีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าที่เน้นการขายสินค้าออร์แกนิคกว่า 5.5 หมื่นสาขาในสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ข้าวสาร ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวออร์แกนิคพรีเมียม เป็นบรรจุภัณฑ์ที่อัด/เติมลมไนโตรเจนเพื่อให้ป้องกันการเกิดมอดในข้าวอย่างได้ผล ขณะที่มีคู่ค้าจากออสเตรเลีย ได้ติดต่อให้ทางกลุ่มจัดหาสินค้าอาหารผ่านการผลิตของโรงงานพันธมิตร ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่ายอดขายของกลุ่มปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 20% (PJ US GROUP มีรายได้รวมปี 2564 กว่า 1,000 ล้านบาท)

 

 “ตัวอย่างวิกฤติเรื่องขาดแคลนเรือ และขาดแรงงานในสหรัฐฯ สินค้าที่ห้างค้าปลีก ค้าส่งยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Walmart, Target, Costco ที่สั่งนำเข้าเพื่อไปจำหน่ายช่วงปีใหม่เกิดความล่าช้าไม่ทันขายช่วงเทศกาล ทำให้เวลานี้ต้องนำสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร มาเลหลังลดราคาจำหน่าย 30-40% เพื่อลดสต๊อก และภาระต้นทุน เช่น สินค้าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงานในท่าเรือ คนขับรถบรรทุก นักบินพาณิชย์ ยังเป็นปัญหาใหญ่ในการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯนอกเหนือจากปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าแพง ค่าระวางเรือสูง” นายประมุข กล่าว และว่า

 

จากที่สินค้าอาหารจากประเทศไทยได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ ซึ่งจากที่โลกเกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบห่วงโซ่การผลิต สินค้าขาดแคลน และราคาสูง ส่งผลให้เงินเฟ้อ และค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นในเวลานั้น

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ MR. ROB  CRISFIELD กรรมการผู้จัดการ บริษัท VEGA CHIPS บริษัทผู้นำตลาดสแน็คเพื่อสุขภาพ กลุ่ม home based  และ plant based snack ที่ทำจากพืช ที่มีส่วนแบ่งตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตในออสเตรเลีย 60% ได้เข้ามาติดต่อกับโรงงานหุ้นส่วนของ PJ US GROUP ในไทยเพื่อให้ขยายการผลิต และขยายไอเทมสินค้าป้อน จากเดิมมีความร่วมมือกันในการผลิตและส่งมอบสินค้าให้แล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่ทางลูกค้าต้องการความมั่นใจว่าสินค้าจะไม่ขาดแคลนจึงจำเป็นต้องจัดหาจากหลายแหล่ง

 

ประมุข  เจิดพงศาธร ถ่ายภาพกับ Mr. Rob Crisfield และทีมงานจากออสเตรเลีย

 

โดย MR. ROB  CRISFIELD กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บริษัทเป็นเจ้าของแบรนด์ VEGA CHIPS มีโรงงานผลิตในออสเตรเลีย ส่วนหนึ่งสินค้าสั่งซื้อจากไทยและอินโดนีเซียด้วย เพราะต้องการให้สินค้ามีความมั่นคงและมีความเสถียรสามารถป้อนตลาดได้อย่างเพียงพอ เพราะบางครั้งวัตถุดิบในออสเตรเลียขาดแคลน หรือมีปัญหาทางเทคนิค ดังนั้นคู่ค้าที่จะมาเสริมได้ต้องมีความมั่นคง และเชื่อใจได้ ซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปลูกพืชเกษตรกรรมมากมาย เป็นประเทศที่ได้รับความเชื่อถือในหลาย ๆ อย่าง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะขยายไปเรื่อย ๆ

 

เยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าในไทย

 

นายประมุข กล่าวอีกว่า การทำการค้าและธุรกิจในยุคปัจจุบันไม่ใช่ง่าย เพระมีปัจจัยเสี่ยงและตัวแปรมากมาย แต่ที่สำคัญคือ ผู้ทำธุรกิจต้องเป็นผู้รู้จริงที่เกิดจากประสบการณ์จริง และไม่ประมาท ยกตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศจีนมีโยบายควบคุมโรคโควิดให้เป็นศูนย์ (Zero Covid) มีการล็อกดาวน์ และปิดเท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ทำให้ตู้สินค้าติดอยู่ในประเทศจีนมากมาย ส่งผลให้ซัพพลายเชนทั้งโลกเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง และผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เกิด Perfect Storm (สถานการณ์ย่ำแย่เกิดขึ้นพร้อม ๆ ด้วยความบังเอิญ ทำให้ทุกอย่างยิ่งดูแย่ลงไปอีก) คือทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น เงินเฟ้อสูง ข้าวยากหมากแพง ทุกอย่างยิ่งแย่ไปใหญ่ 


 

เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ทุกคนก็พยายามอยากจะรัดเข็มขัด ทำให้วุ่นวายไปหมด ในส่วนดีของประเทศไทยในไตรมาสแรกตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้น (ส่งออกไทย 3 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 73,601.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.9%) จากช่วงที่ผ่านมาการส่งออกเป็นคอขวด คนอยากจะส่งออกแต่การขนส่งออกไม่ได้ ในเมื่อเรือไปติดอยู่ประเทศจีน ตู้คอนเทนเนอร์และเรือก็เหลือแบ่งปันมาทางนี้ ทำให้ไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น 

 

ขณะเดียวกันยูเครนที่ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก เนื่องจากมีภาวะสงครามกับรัสเซีย สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ข้าวสาลีขาดตลาด เมื่อขาดเขาก็มาทายกันว่าในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนอาหาร เพราะฉะนั้นสินค้าในหมวดคอมโมดิตี้ Commodities)  หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

“เท่าที่ผมรู้ทางเขตอาร์คันซอ และเท็กซัสของอเมริกาปกติปลูกข้าวขาว เวลานี้ชาวนาประกาศจะไม่ปลูกข้าวขาว แต่จะปลูกข้าวสาลี นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะว่าข้าวสาลีราคามันแพง  ในเมืองไทยดัชนีที่เขาพูดอยู่เสมอ คือดัชนีบะหมี่ ซึ่งบะหมี่ก็ทำจากข้าวสาลี บะหมี่ก็ยังขึ้นราคา ดังนั้นขอให้ผู้ประกอบการหรือทุกคนอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีสติ และพยายามเดินสายกลาง” นายประมุข กล่าว

 

ประมุข รายงานทิศทางและสถานการณ์การค้าในสหรัฐฯให้ผู้บริหาร DITP ฟัง