ต้นทุนน้ำมันพุ่ง ขนส่งมวลชนป่วน แห่ใช้รถไฟฟ้าแน่น

01 ก.ค. 2565 | 01:11 น.

ช่วงเปิดเมือง เรียน ทำงานเต็มรูปแบบ ต้นทุนพลังงานราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ทำขนส่งมวลชนทั้งระบบวุ่น ขสมก.ขาดระยะ ดันยอดใช้รถไฟฟ้าแน่นผู้โดยสารพุ่งเท่าตัว 

 

ปัญหาต้นทุนพลังงานราคาน้ำมันปรับตัวสูงโดยมีผลต่อเนื่องมาจากสงครามระหว่างรัสเชีย-ยูเครน ส่งผลให้ขนส่งมวลชนสาธารณะทั้งระบบได้รับผลกระทบถ้วนหน้า นอกเหนือจากรถยนต์ส่วนตัวที่มีกระแสก่อนหน้านี้ว่าหลายรายเริ่มสู้กับต้นทุนน้ำมันไม่ไหวถึงขั้นต้องจอดรถไว้กับบ้านและหันมาพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ แต่กลับมีเสียงสะท้อนว่า

 

 

รถไฟฟ้าแน่น รถ ขสมก. ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพขาดระยะ  รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด ลดเที่ยววิ่งสร้างความปั่นป่วนเป็นวงกว้าง ซึ่งมีผลมาจากรัฐบาลยกเลิกการทำงานที่บ้านหรือ work from home สถานศึกษากลับมาเปิดเรียนตามปกติ และนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบของรัฐบาล

ต้นทุนน้ำมันพุ่ง  ขนส่งมวลชนป่วน  แห่ใช้รถไฟฟ้าแน่น

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า ปัจจุบันผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งระบบเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 600,000 คนต่อวัน เนื่องจากภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

              

 

“จากปัญหาราคาน้ำมันแพง ทางบริษัทได้รับผลกระทบในเรื่องของค่าไฟที่ใช้ในระบบรถไฟฟ้าและค่าไฟภายในอาคารสำนักงาน เพราะมีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน รวมทั้งค่าอะไหล่ในการซ่อมบำรุงรถ ทำให้ต้นทุนหลายรายการเพิ่มขึ้นตาม”

              

ต้นทุนน้ำมันพุ่ง  ขนส่งมวลชนป่วน  แห่ใช้รถไฟฟ้าแน่น

สอดคล้องกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ให้บริการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าMRTสีน้ำเงินมมีปริมาณผู้โดยสารกลับมาเป็นปกติเช่นเดียวกับ ผู้ให้บริการ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด มองว่า มีหลายปัจจัยที่มาพร้อมๆ กันทั้งการผ่อนคลายล็อกดาวน์ การเปิดเทอม ทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

               “ราคาน้ำมันแพงมีผลกระทบเล็กน้อยต่อต้นทุนกับรถซ่อมบำรุงเท่านั้น เพราะเป็นรถที่ใช้ในน้ำมันดีเซลราว 2-3% โดยนำมาวิ่งในช่วงกลางคืนเพียงระยะสั้น ปัจจุบันมีรถซ่อมบำรุง จำนวน 6 คัน” 

ขณะการเดินขบวนรถไฟทั้งทางไกลและใกล้ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รฟท. ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาน้ำขึ้นอย่างมาก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเรื่องค่าระวางในการขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันได้ตรึงราคาช่วยภาคเอกชนไว้อยู่ แต่หากต่อไปราคาน้ำมันหรือพลังงานปรับตัวลดลงก็สามารถมาเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้อีกครั้งได้

              

 

 

ส่วนปัญหาราคาน้ำมันจะส่งผลให้ต้องปรับราคาค่าตั๋วโดยสารเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ในเรื่องของค่าโดยสารก็เป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบ แต่ทาง รฟท. ไม่มีการปรับราคาค่าโดยสารขึ้น เนื่องถูกควบคุมอัตราค่าโดยสารจากรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ รฟท. ได้มีการปรับลดขบวนรถไฟลง ตั้งแต่ช่วงโควิดจึงพอช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

              

 

ส่วนรถหมวด 1 หรือรถโดยสารประจำทาง ที่ส่วนใหญ่วิ่งอยู่ภายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อว่ารถในหมวดนี้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะ ส่วนใหญ่เป็นรถที่ใช้แก๊สธรรมชาติ (เอ็นจีวี) หรือใช้แก๊สธรรมชาติอัด (ซีเอ็นจี)

 

เป็นเชื้อเพลิงหลัก และยังสามารถให้บริการในอัตราค่าโดยสารเดิมได้อยู่ อีกทั้งรถโดยสารที่จะทยอยเข้าบรรจุใหม่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งจะไม่ได้ผลกระทบมากนักจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

              

 

สำหรับปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบขนส่งทางรางภายในปี 2565-ปัจจุบัน ดังนี้ 1.รฟท. อยู่ที่ 45,689 คนต่อวัน จากเดิมในปี 2564 อยู่ที่ 24,572 คนต่อวัน 2.แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อยู่ที่ 40,963 คนต่อวัน จากเดิมในปี 2564 อยู่ที่ 23,174 คนต่อวัน

 

 

3.สายสีแดง อยู่ที่ 11,600 คนต่อวัน จากเดิมในปี 2564 อยู่ที่ 7,534 คนต่อวัน 4.MRT อยู่ที่ 260,441 คนต่อวัน จากเดิมในปี 2564 อยู่ที่ 159,863 คนต่อวัน 5.BTS อยู่ที่ 506,619 คนต่อวัน จากเดิมในปี 2564 อยู่ที่ 305,763 คนต่อวัน

              

ต้นทุนน้ำมันพุ่ง  ขนส่งมวลชนป่วน  แห่ใช้รถไฟฟ้าแน่น

 

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ปัจจุบันรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. มีทั้งหมด 2,885  คัน อายุการใช้งานตั้งแต่ 5-25 ปี ขึ้นไป ส่งผลให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม

 

อย่างไรก็ตาม ขสมก. ได้จัดให้มีการซ่อมบำรุงเพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการกับประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาก่อนโควิด มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 800,000-900,000 คนต่อวัน มีรถเมล์ ประมาณ 19,000 เที่ยวต่อวัน

 

จนกระทั่งโควิดระบาดมากขึ้นและมาตรการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง ขนส่งของประชาชน ขสมก.มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน  200,000-400,000 คนต่อวัน ในเที่ยววิ่ง17,000 เที่ยวต่อวัน ปัจจุบันโควิดได้คลี่คลายประกอบกับนโยบายเปิดประเทศ

 

มีผู้โดยสาร700,000 คนต่อวัน ในเที่ยววิ่งประมาณ 19,000 เที่ยวต่อวัน (ผู้โดยสารน้อยกว่าก่อนโควิดประมาณ ร้อยละ 16และมากกว่าสถานการณ์โควิดประมาณ ร้อยละ 40)           

              

 

ด้านพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย  เปิดเผยว่า ระบุว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นได้เชิญผู้ประกอบการขนส่งมาร่วมประชุมปรึกษาหารือ เพื่อหาทางออกและกำหนดมาตรการเร่งรัดภาครัฐให้อนุมัติปรับอัตราค่าโดยสารโดยเร็ว ล่าสุดได้ข้อสรุปว่า จะลดเที่ยววิ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป แต่ในที่สุดก็ปรับขึ้นให้ตามระยะทาง 

              

 

ขณะที่เคาะปรับราคาไปก่อนหน้านี้ รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า (จท.) แจ้งว่า ผู้บริหารกรมเจ้าท่าได้ร่วมประชุมคณะกรรมการเรือเดินประจำทาง เนื่องจากน้ำมันดีเซลปรับราคาสูง

 

สมาคมเรือไทยได้มีหนังสือขอปรับค่าโดยสารเรือข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยาในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตให้เก็บค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำกว่า 5 บาท เป็น 5 บาทต่อเที่ยวแต่ได้รับการพิจารณาให้ปรับค่าโดยสารเพียง1บาท