ไทย-เกาหลี ยกระดับ "นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ" ปักหมุดพื้นที่ "อีอีซี" นำร่อง

15 มิ.ย. 2565 | 10:10 น.

ไทย-เกาหลี ยกระดับ "นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ" ปักหมุดพื้นที่ "อีอีซี" นำร่อง มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมศักยภาพเชิงพื้นที่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการร่วมกับ  บริษัท Korea Land and Housing Corporation (LH) เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate)

 

ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือระหว่าง กนอ. และ LH ครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าศักยภาพและประสบการณ์ของ LH จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย

 

รวมถึงการเพิ่มมูลค่าการลงทุนในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเติบโตเพิ่มมากขึ้น

 

“ความร่วมมือครั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งในประเทศไทยและประเทศเกาหลี คาดว่าจะสามารถพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ กนอ. เป็นผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาคด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคต”

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. มุ่งพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเกิดของเสีย ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

 

ไทย-เกาหลี ยกระดับ "นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ"

โดยมีเป้าหมายผลักดันให้มีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม บริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบกิจการ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน 

 

อย่างไรก็ดี กนอ.ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และพื้นที่ประกอบการอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรม (Smart Industrial Estate and Smart Industrial Zone)
 

นายจอน โจยอง (Mr.Jeon Joyoung) อัครราชทูต รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต ผู้แทนถาวรสาธารณรัฐเกาหลีประจำยูเอ็นเอสแคป กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของไทยและเกาหลีที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย และจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย 

 

อย่างไรก็ดี  ก่อนหน้านี้มีการลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือเมืองอัจฉริยะระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่ง สาธารณรัฐเกาหลี ดังนั้น ความร่วมมือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในครั้งนี้ จึงเป็นอีกก้าวที่สำคัญในความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและเกาหลี 

 

และไม่เพียงเป็นการร่วมมือระหว่าง กนอ. และ LH Corporationแต่แสดงให้เห็นถึงแผนการของประเทศไทยในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมของไทยและบริษัทเกาหลีในอนาคต

 

นายคิม ฮยุนจุน (Mr.Kim Hyun Jun) กรรมการผู้มีอำนาจ LH กล่าวว่า LH เป็นบริษัทของรัฐบาลเกาหลีที่มุ่งมั่นพัฒนาเมืองและอาคารสาธารณะ ขณะที่ กนอ.เป็นผู้นำด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและให้บริการระบบสาธารณูปโภคครบวงจร ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ดินเหมือนกัน 

 

ไทย-เกาหลี ยกระดับ "นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ"

 

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีศักยภาพสูงในภูมิภาคอาเซียน และการเติบโตทางเศรษฐกิจยังได้รับแรงหนุนจากนโยบาย Thailand 4.0 และการพัฒนาพื้นที่ EEC ของรัฐบาลไทย ซึ่งหลังการทำข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างเกาหลีและไทยเมื่อปี 2553 ทำให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากการลงทุนของเกาหลีในประเทศไทยที่มีมูลค่า 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 

 

และ 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 จึงเป็นที่มาของความต้องการของ LH ที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ร่วมกับ กนอ. โดยคาดหวังว่าความร่วมมือนี้จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและสร้างโอกาส ในการทำงานเพิ่มขึ้น

 

ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้มีเป้าหมายดำเนินการในระยะเวลา 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงพื้นที่อื่นที่เห็นชอบร่วมกัน และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้รวมถึงประสบการณ์ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป