ปิด "คลังพลาซ่า โคราช" บทเรียนห้างท้องถิ่น "ไม่สูญพันธุ์แต่ต้องปรับตัว"

10 มิ.ย. 2565 | 09:54 น.

คลังพลาซ่า ห้างท้องถิ่นแถวหน้าโคราช ทยอยปิดต่อสาขาที่ 2 และเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของตระกูล"มานะศิลป์" เซ่นพิษโควิดและการแข่งเดือดของสมรภูมิค้าปลีกในหัวเมืองใหญ่ จุดกระแสอวสานห้างท้องถิ่นจริงหรือไม่ รีบหาคำตอบ

แม้หวั่นใจมานาน แต่ถึงเวลาก็อดตกใจไม่ได้ สำหรับพนักงานและผู้ค้าในห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า โคราช เมื่อผู้บริหารมีหนังสือ 4 มิ.ย.2565 แจ้งปิด"คลัง พลาซ่า"สาขาอัษฎางค์ ซึ่งเป็นสาขาแรกและอยู่ใจกลางเมืองโคราช ที่เรียกกันว่า"คลังเก่า" ตั้งแต่ 31 ก.ค.2565 เป็นต้นไป

 

ตามรอยคลังพลาซ่า สาขาถนนจอมสุรางค์ยาตร ที่เรียกกันว่า"คลังใหม่" ที่ได้สั่งปิดไปเมื่อ 1 พฤษภาคม 2564  หรือกว่า 1 ปีก่อนหน้านี้ โดยเวลานั้นให้เหตุผลว่า เจอผลกระทบจากการระบาดเชื้อโควิด-19 ยึดเยื้อ ที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างเพื่อคุมโรค และในช่วงระบาดรุนแรงถึงขั้นปิดห้างร้านให้คนอยู่บ้านหยุดเชื้อ  

ปิด "คลังพลาซ่า โคราช" บทเรียนห้างท้องถิ่น "ไม่สูญพันธุ์แต่ต้องปรับตัว"

นายไพรัตน์ มานะศิลป์ รองประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท คลัง พลาซ่า จำกัด

นายไพรัตน์ มานะศิลป์ หรือ เสี่ยเหลียง รองประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท คลัง พลาซ่า จำกัด รับว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยและการระบาดเชื้อโควิด-19 จนทนแบกรับภาระต่อไปไม่ไหว จากเดิมเคยมีรายได้วันละ 2-3 ล้านบาท ปัจจุบันยอดขายเหลือไม่ถึงแสนบาท 

 

เกิดกระแสข่าวกระหึ่ม ว่าคลังพลาซ่าจะเลิกทำห้างค้าปลีก แต่"เสี่ยเหลียง"ยืนยันว่า หากสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น "คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ยาตร" จะกลับมาเปิดให้บริการแน่นอน  เพราะตึกก็ยังเป็นของเราซึ่งสัญญาเช่าจะหมดในปี 2578 และ บริเวณชั้น G ที่เป็นร้านเช่า ทั้งธนาคาร, ร้านโทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ ก็ยังเปิดให้บริการตามปกติไม่ได้ปิดตึกแต่อย่างใด   

ปิด "คลังพลาซ่า โคราช" บทเรียนห้างท้องถิ่น "ไม่สูญพันธุ์แต่ต้องปรับตัว"

ปิด "คลังพลาซ่า โคราช" บทเรียนห้างท้องถิ่น "ไม่สูญพันธุ์แต่ต้องปรับตัว"

ทั้งนี้ คลังพลาซ่าจอมสุรางค์ยาตร  เพิ่งได้รับการรีโนเวตใหญ่ไปเมื่อปี 2557 ด้วยเม็ดเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท จากนั้นไม่กี่ปีก็มาเจอกับการแข่งขันที่รุนแรงของห้างยักษ์ใหญ่จากส่วนกลาง ซึ่งเราได้มีการเจรจาของพักชำระหนี้กับธนาคารไว้ก่อน ซึ่งก็มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ธนาคารก็เข้าใจเป็นอย่างดี 

 

ทำให้หลายคนคิดว่าปิดชั่วคราวเพื่อรอเปิดหลังโควิดคลี่คลาย แต่แล้วเมื่อ 20 ก.พ. 2565 ก็มีการปลดป้ายคลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร ห้างท้องถิ่นที่อยู่คู่โคราชมากว่า 30 ปี แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ARPAYA อาภาญา”

 

 "ไพรัตน์"ชี้แจงว่า เป็นการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ จากวิกฤตโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ห้างสรรพสินค้าดีพาร์มเมนต์ที่แยกแผนกสินค้าต่าง ๆ ไม่ตอบโจทย์ยุคใหม่ ต้องปรับตัวใหม่ไปสู่ทางที่ดีกว่าเดิม โดยเลือกเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยม คือจะมีพื้นที่เช่าเกี่ยวกับด้านศูนย์การศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านกีฬา ด้านเทคโนโลยี เป็นอาคารเพื่อการเรียนรู้ และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ออฟฟิศ ร้านค้า เพราะอยู่ทำเลใจกลางเมือง ใกล้หน่วยงานราชการ การเดินทางสะดวก 

 

"ที่นี่เป็นธุรกิจใหม่ของคลังพลาซ่า เปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ  เปลี่ยนจากบริหารห้าง เป็นบริหารพื้นที่ ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าเหมือนเดิม และเปลี่ยนชื่อตึกนี้ใหม่ เพื่อเป็นโปรเจ็กต์มัลติยูส คืออาคารเอนกประสงค์ที่มีหลากหลายธุรกิจมารวมอยู่ในพื้นที่ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น อาภาญา”

 

โครงการนี้มี"เง็ก-ประภากร มานะศิลป์ น้องสาว มาเป็นผู้บริหารพื้นที่ทั้งหมด เป็นหุ้นส่วน 3 ประเทศ คือมีนักธุรกิจมาเลเซียและสิงคโปร์ มาร่วมด้วย 

 

ครั้งนั้น"เสี่ยเหลียง"กล่าวว่า จากนี้จะโฟกัสสาขาคลังพลาซ่าที่เหลือ คือ คลังพลาซ่าอัษฎางค์ และคลังวิลลา พร้อมเชิญชวนชาวโคราชไปอุดหนุนกิจการห้างของคนท้องถิ่นโคราช แต่แล้วการถึงคราวปิดคลังเก่าตามมาอีกในครั้งนี้

 

หรือจะถึงคราวปิดตำนานคลังพลาซ่า ชี้ชะตากรรมของห้างค้าปลีกภูธร ที่ไม่อาจต้านทานกระแสการแข่งขันจากห้างส่วนกลางที่บุกถล่มในพื้นที่

 

 ทั้งนี้ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด ภายใต้การบริหารของนายไพรัตน์ มานะศิลป์ รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า รวม  3 สาขา ประกอบด้วย สาขาอัษฎางค์ สาขาจอมสุรางค์ และคลังวิลล่า สาขาสุรนารายณ์    

 

“คลังพลาซ่า” ถือเป็นตำนานห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น ก่อตั้งโดยนายไพศาล มานะศิลป์ ตั้งแต่ปี 2501 จากร้านขายอุปกรณ์การเรียนในชื่อ “คลังวิทยา” ข้างวัดพายัพ ก่อนขยายสาขา และย้ายมาอยู่ที่ถนนอัษฏางค์ ต่อมาในปี 2519 เปลี่ยนชื่อเป็น “คลังวิทยา ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์”  ถือเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อนของภาคอีสาน

 

ต่อมาได้ขยายสาขาเพิ่มและย้ายมาอยู่บริเวณตรงข้ามโรงภาพยนตร์เฉลิมวัฒนารามา เยื้องลานย่าโม ริมถนนจอมสุรางค์ยาตร เป็นห้างสรรพสินค้า ”คลังพลาซ่า สาขาอัษฏางค์” เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคอีสานในขณะนั้น ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวโคราชและคนอีสานเป็นอย่างดี

 

ปี 2553 ได้เพิ่มสาขา “คลังวิลล่า” เยื้องมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) นครราชสีมา 

 

ต่อมาห้างค้าปลีกเจ้าถิ่นโคราช ต้องเผขิญการแข่งขันรุนแรงจากห้างค้าปลีกยักษ์จากส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น"เดอะ มอลล์" ที่เข้ามาปักหลักโคราชเพื่อรองรับลูกค้าทั้งภาคอีสาน รวมถึงสปป.ลาว และดุเดือดยิ่งขึ้นเมื่อห้างเซ็นทรัลพลาซ่า ลงสนาม ตามมาด้วยเทอร์มินอล 21  

 

คลังพลาซ่าปักหลักสู้  ปี 2557 ลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท รีโนเวตใหญ่ทุกชั้นทุกแผนกของ"คลังพลาซ่า จอมสุรางค์" ทั้งอาคาร 9 ชั้น ให้เป็นสไตล์โมเดิร์น ขยายพื้นที่ขายจาก 20,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) เป็น 30,000 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 33 % 

 

พร้อมกับเพื่อรองรับโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน และการพัฒนารถไฟทางคู่ ที่จะบูมโคราชครั้งใหญ่ จึงทำสัญญาเช่าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เพื่อทำโครงการคลังพลาซ่า สาขาหัวรถไฟ หรือ"คลัง สเตชั่น" ห้างค้าปลีกใหญ่หน้าสถานีนครราชสีมา ซึ่งได้ลงทุนทำฐานรากไปแล้วกว่า 450 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 750 ล้านบาท

 

แต่แล้วโครงการนี้เกิดสะดุด จากการปรับแบบทางรถไฟช่วงเข้าเมืองที่ต้องทุบสะพานเข้าเมืองโคราชเดิม เพื่อทำทางรถไฟยกระดับ ซึ่งต้องมีระยะลาดเข้าสถานีที่ต้องห่างจากจุดเดิม กระทบแผนทางต่อเชื่อมและเส้นทางเข้าสู่โครงการที่ต้องปรับแบบกันใหม่ ต้องแจ้งรฟท.ขอชะลอการก่อสร้างออกไปก่อน ทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้แนวเส้นทางชัดเจนก่อน

 

แม้ธนาคารจะให้พักหนี้การลงทุนรีโนเวตคลังพลาซ่า จอมสุรางค์ ช่วงปิดห้างคุมโควิด-19 และการรถไฟฯให้ชะลอแผนก่อสร้างไปก่อน แต่ทุนที่ลงไปจมอยู่กับโครงสร้างฐานราก เมื่ออาคารไม่แล้วเสร็จก็ไม่มีรายได้ เกิดปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก จนต้องปรับโมเดลธุรกิจใหม่อย่างที่ปรากฎ

 

 โดยปรับคลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ เป็นอาภาญา เปลี่ยนห้างสรรพสินค้า เป็นอาคารมัลติยูสด์ มุ่งรายได้จากค่าเช่าแทน  ส่วน"คลังเก่า"ที่เพิ่งปิดไปนั้น พร้อมเปิดให้ผู้สนใจเช่าทำธุรกิจ ขณะที่เหลือเพียงคลังวิลลา ที่ยังสร้างรายได้ประจำวัน เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่สถาบันการศึกษา และเปิดพื้นที่สำหรับแผนกเครื่องเขียน-อุปกรณ์สำนักงานครบครัน มีเนื้อที่รองจากซูเปอร์มาเก็ตเท่านั้น เป็นสาขาที่สร้างรายได้หลักป้อนกงสี"มานะศิลป์" ซึ่งอาจเติมน้ำหนักกลับไปหาจุดแข็งดั้งเดิมของตระกูล    

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน โดยชี้ว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาห้างคลังพลาซา เป็นห้างท้องถิ่นที่ปักหลักสู้ในสมรภูมิค้าปลีกที่ต้องแข่งขันดุเดือด เฉพาะต้องสู้กับทุนส่วนกลางที่เป็นยักษ์ใหญ่ ทุนหนา สายป่านยาว  ก็เหนื่อยแล้ว 

 

 แต่คลังพลาซ่ายังเจอกับเหตุไม่คาดฝัน ทุนไปจมกับโครงการคลังสเตชั่น ที่ต้องรอความชัดเจนของโครงการของรฟท. แล้วเจอแจ็คพอตจากวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเข้าไปอีก จนต้องปรับตัวหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เปลี่ยนแหล่งรายได้จากการขายเป็นค่าเช่า 

 

ขณะที่คลังวิลลา เป็นห้างคอมมูนิตี้ มอลล์ มีต้นทุนต่ำกว่าห้างแบบปิด สอดคล้องกับพื้นที่ที่เป็นชุมชนและสถาบันการศึกษา คนเข้าถึงง่าย มีสินค้าเครื่องเขียน-อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์สำนักงานครบครัน ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญเดิมของครอบครัวมานะศิลป์ ต่อไปอาจต้องโฟกัสสิ่งที่เป็นจุดแข็งเป็นหลัก 

 

ทั้งนี้ ห้างค้าปลีกท้องถิ่นมีรูปแบบปรับตัวสู้ในการแข่งขันของทุนใหญ่ ไม่ไปแข่งในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของคู่แข่ง และหาโอกาสและพื้นที่ที่ทุนใหญ่ไม่สนใจ หรือเข้าไม่ถึง บางรายมุ่งเป็นห้างดิสเคาน์ต้นทุนต่ำ เพื่อสามารถทำราคาต่ำกว่าให้แข่งขันได้  

 

ดังกลยุทธ์ของ บริษัท สยามวิชโก้ จำกัด ในเครือฮกกี่ ซุปเปอร์มาร์ท ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งรายใหญ่สุดของจังหวัดนครราชสีมา ที่ใช้การบริหารสต็อกและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ จับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง จนสามารถขยายไปยังจังหวัดรองข้างเคียง

 

หรือห้างเซฟมาร์ท อุดรธานี ห้างสะดวกซื้อเจาะเข้าชุมชน โดยมีสาขาแล้ว 8 สาขา ทั้งในตัวเมืองอุดรฯ และอำเภอโดยรอบ ที่เข้าร่วมเครือข่ายร้านธงฟ้า  มุ่งบริการลูกค้านอกจากวอล์คอินแล้ว ยังเปิดรับออร์เดอร์ทางโทรศัพท์ พร้อมบริการจัดส่งถึงที่ 

 

ห้างท้องถิ่นไม่สูญพันธุ์แต่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่