ลุ้น ครม.ไฟเขียว รฟฟท.เพิ่มพันธกิจ เล็งประมูลบริหารรถไฟฟ้าสายอื่น

03 มิ.ย. 2565 | 09:08 น.

รฟฟท.เปิดแผนองค์กรเพิ่มพันธกิจ ชงคนร.-ครม.ไฟเขียวปีนี้ จ่อประมูลบริหารรถไฟฟ้าเส้นทางสายอื่น คาดผู้โดยสารพุ่ง 3 หมื่นคนต่อวัน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการขอเพิ่มพันธกิจในการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง เพื่อขยายช่องทางด้านธุรกิจบริหารรถไฟฟ้า นอกเหนือจากการเป็นผู้บริหารรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณา หากได้รับการอนุมัติจึงจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในปีนี้ 

 

 

“ตอนนี้พันธกิจที่เราได้รับมอบหมายคือการบริหารรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งตามแผนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะนำรถไฟชานเมืองสายสีแดงมาเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน ทำให้ รฟฟท.ต้องปรับองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราอยู่ระหว่างขอเพิ่มพันธกิจให้สามารถไปบริหารกิจการรถไฟฟ้าสายอื่น เข้าร่วมประมูล หรือเป็นองค์กรที่คอยให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับรถไฟฟ้า”

 

 

 

ทั้งนี้ รฟฟท.ถือเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ในเรื่องของการบริหารรถไฟฟ้ามานาน ดังนั้นประสบการณ์ส่วนนี้จะเป็นโอกาสสำหรับการเข้าไปบริหารและหารายได้จากการขยายตัวของธุรกิจรถไฟฟ้า ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบการเพิ่มพันธกิจ จะส่งผลให้ รฟฟท.สามารถเข้าไปร่วมประมูลบริหารรถไฟฟ้าสายอื่น โดยอาจเข้าไปร่วมในลักษณะของการเป็นพันธมิตรกับเอกชนรายอื่น หรือเป็นองค์กรที่ปรึกษาในการบริหารรถไฟฟ้า เป็นแหล่งเรียนรู้ทางราง ตลอดจนเป็นผู้รับช่วงในการบริหารและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า
 

หากการเพิ่มพันธกิจดังกล่าวผ่านการเห็นชอบตามขั้นตอนแล้วเสร็จภายในปีนี้ รฟฟท.คาดว่าจะสามารถเข้าร่วมประมูล หรือเป็นส่วนหนึ่งของการประมูลรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ได้ภายในปีหน้า ดังนั้นจะเห็นภาพชัดเจนว่า เมื่อรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะนำมาเปิดประมูลให้เอกชนบริหาร ก็ไม่ได้กระทบต่อ รฟฟท. และพนักงานของ รฟฟท. เพราะองค์กรกำลังปรับพันธกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 

 

 

ส่วนพนักงานของ รฟฟท.ที่มีอยู่ราว 800 คน หากเอกชนผู้บริหารรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ามาบริหาร และต้องการถ่ายโอนพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเหล่านี้ก็สามารถดำเนินการได้ คล้ายกับการถ่ายโอนพนักงานของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไปสู่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีการถ่ายโอนพนักงานของ รฟฟท.ไปราว 30-40% แต่อย่างไรก็ดี รฟฟท.ยืนยันว่าพนักงานที่มีอยู่นั้น จะได้รับหน้าที่ในการบริหารจัดการรถไฟฟ้าเช่นเดิม ถึงแม้ไม่ได้บริหารรถไฟชานเมืองสายสีแดง ขณะนี้ รฟท.ก็อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะบริหารรถไฟไทย-จีน ซึ่ง รฟฟท.จะรับบทบาทในการบริหารโครงการด้วย 

สำหรับภาพรวมรายได้ของ รฟฟท.ในปีนี้ คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่อยู่ในช่วงของการเติบโต ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยขณะนี้มีปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำสถิติผู้โดยสารสูงสุด (นิวไฮ) 14,120 คน ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลากว่า 6 เดือน 

 

 

อย่างไรก็ตามในช่วงแรกของการเปิดให้บริการเมื่อช่วงเดือน พ.ย.2564 ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณวันละ 2,000-3,000 คน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณวันละ 7,000-8,000 คน และผู้โดยสารมากกว่าวันละ 10,000 คน เมื่อช่วงเดือน พ.ค.2565 อย่างไรก็ตามคาดว่าผู้โดยสารจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวัน 3 หมื่นคนภายในปี 2565 และเติบโตขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 10%