ส่องด่านหินมาตรการคู่ค้า สกัดส่งออกผลไม้ 2.8 แสนล้าน

21 พ.ค. 2565 | 06:42 น.

กระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกผลไม้ไทยทั้งผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้แห้งและผลไม้แปรรูปปี 2565 มูลค่า 287,500 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีมูลค่าส่งออก 250,000 ล้านบาท

 

ในการส่งออกกว่า 280,000 ล้านบาทดังกล่าว  แบ่งเป็นผลไม้สด 191,000 ล้านบาท ผลไม้แช่เย็น แช่แข็ง 14,000 ล้านบาท ผลไม้แห้งและอื่น ๆ 23,000 ล้านบาท ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 55,300 ล้านบาท  (ข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากรระบุปี 2564 ไทยมีการส่งออกเฉพาะผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มูลค่า 191,523.65 ล้านบาท)

 

โดยนอกจากตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่สุดของผลไม้ไทยที่ยังมีอุปสรรคจากมาตรการ Zero Covid  ที่ตรวจเข้มสินค้าทุกตู้ (ตรวจ 100%) ที่ด่านขาเข้าทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ทำให้การนำเข้าสินค้าเกิดการติดขัด ความล่าช้า และมีความเสี่ยงถูกระงับนำเข้าแล้ว

 

ทางกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ได้เร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งที่ผ่านมามีความต้องการผลไม้สดจากไทยจำนวนมากขึ้นและหลากหลายชนิด เช่น เงาะ มังคุด ลำไย มะม่วง ทุเรียน

 

ส่องด่านหินมาตรการคู่ค้า สกัดส่งออกผลไม้ 2.8 แสนล้าน

 

 

ล่าสุดระหว่างการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของคณะร่วมภาครัฐและเอกชนไทย (15-19 พ.ค. 65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประสบความสำเร็จในการหารือกับผู้บริหารของห้างลูลูไฮเปอร์มาร์เก็ต (Lulu Hypermarket ) ในการขยายตลาดสินค้าผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารมาตรฐานฮาลาลของไทย โดยทางห้างลูลูฯพร้อมร่วมมือในการวางจำหน่ายสินค้าไทยกว่า 2,500 รายการใน 241 สาขาที่ตั้งอยู่ในซาอุดีอาระเบีย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน กาตาร์ บาห์เรน จอร์แดน เป็นต้น

 

ส่องด่านหินมาตรการคู่ค้า สกัดส่งออกผลไม้ 2.8 แสนล้าน

 

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนโดยนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่า การส่งออกผลไม้ไทยในปีนี้ถือมีความท้าทายมากว่าจะไปถึงเป้าหมายหรือไม่ เพราะนอกจากมีปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการ Zero Covid ของจีนแล้ว ในตลาดอื่น ๆ ยังมีมาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษีที่คู่ค้าใช้กับผลไม้ไทย เช่น อินโดนีเซีย กำหนดท่าเรือนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ไทยเพียง 3 ท่า คือท่าเรือ Soekarno-Hatta ที่เมือง Makassar ในเกาะสุราเวสี ท่าเรือ Tanjung Perak ที่เมือง Surabaya และท่าเรือ Belawan ที่เมือง Medan ในเกาะสุมาตรา ทำให้ต้องใช้เวลาในการขนส่งเพิ่มขึ้น และมีต้นทุนการขนส่งเพิ่มมากขึ้น

 

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

ในส่วนของจีนกำหนดให้ลำไยสดเป็นผลไม้ที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนและจีนมาไทย โดยต้องเป็นลำไยจากสวนที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จากกรมวิชาการเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้กรณีที่พบปัญหาที่ปลายทาง รวมถึงลำไยต้องผ่านการตรวจสอบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โดยมีค่า SO2 ในเนื้อไม่เกิน 50 ppm. และต้องมีใบรับรองวิเคราะห์แนบไปกับสินค้าทุกล็อต เป็นต้น

 

ที่ผ่านมาจีนตรวจพบ SO2 เกินค่ามาตรฐานบ่อยครั้ง ทำให้จีนมีการสุ่มตรวจลำไยสดของไทยอย่างเข้มงวดตั้งแต่ปี 2556 และห้ามนำเข้าลำไยจากผู้ประกอบการบางรายของไทย

 

ส่องด่านหินมาตรการคู่ค้า สกัดส่งออกผลไม้ 2.8 แสนล้าน

 

นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศซึ่งขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของประเทศนำเข้านั้น ๆ เช่น Codex, IPPC, HACCP, GMP, GAP, มาตรฐาน BRC, IFS, GLOBAL GAP หรือ European Food Safety Authority (FSA) เป็นต้น ไม่นับรวมปัญหาการขนส่งที่ค่าระวางเรือสูงขึ้นตามต้นทุนนํ้ามัน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การปิดด่านเป็นระยะของจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น

 

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ไทยต้องฟันฝ่าเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการส่งออกผลไม้ 2.8 แสนล้านบาทในปีนี้ ซึ่งหากทำได้จะเป็นการทำลายสถิติส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน