สศก.ภาคใต้ เตรียมชงข้อมูลฟรุ้ทบอร์ด รับมือช่วงพีคผลไม้ 14 จังหวัดใต้ทะลัก

21 พ.ค. 2565 | 02:26 น.

สศก.ภาคใต้เปิดข้อมูลผลไม้ภาคใต้ปี 65 คาดผลผลิตรวมกว่า 5.7 แสนตัน ทุเรียน-มังคุด ทยอยออกตลาด เตรียมชงข้อมูลฟรุ้ทบอร์ด บริหารจัดการล่วงหน้า ทั้งประสานผู้ซื้อผ่านออนไลน์

นายนิกร  แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า จากการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลภาคใต้ ปี 2565 ครั้งที่ 2 (ข้อมูล ณ 11 พ.ค. 2565) โดย สศท.8 และ สศท.9 ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้

 

ทั้งนี้ได้พิจารณาผลพยากรณ์ไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ต้นฤดู พบว่า

 

สศก.ภาคใต้ เตรียมชงข้อมูลฟรุ้ทบอร์ด รับมือช่วงพีคผลไม้ 14 จังหวัดใต้ทะลัก

 

เนื้อที่ยืนต้น ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1.10 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มี 1.08 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 โดย ทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้น โดยมีการปลูกทุเรียนทดแทนกาแฟ ยางพารา และปลูกเพิ่มในพื้นที่ว่าง

 

สศก.ภาคใต้ เตรียมชงข้อมูลฟรุ้ทบอร์ด รับมือช่วงพีคผลไม้ 14 จังหวัดใต้ทะลัก

 

ส่วนลองกอง พื้นที่ลดลงร้อยละ 8  เงาะ ลดลงร้อยละ 4 และมังคุดลดลงร้อยละ 1 โดยส่วนหนึ่งของเกษตรกรมีการโค่นต้นเงาะ มังคุด และลองกอง เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกทุเรียนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนเนื้อที่ให้ผลไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 931,688 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 898,467 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4) โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ส่วนลองกอง ลดลงร้อยละ 8 และเงาะ ลดลงร้อยละ 3

 

ขณะที่ด้านปริมาณผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด คาดปีนี้จะมีประมาณ 574,026 ตัน ลดลงจากปี 2564 ที่มีจำนวน 841,134 ตัน (ลดลงร้อยละ 32) โดยทุเรียน มีจำนวน 465,959 ตัน ลดลงร้อยละ 19 มังคุด มีจำนวน 59,659 ตัน ลดลงร้อยละ 63 เงาะ มีจำนวน 41,858 ตัน ลดลงร้อยละ 36 และลองกอง มีจำนวน 6,550 ตัน ลดลงร้อยละ 82 ซึ่งปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิดที่ลดลง เนื่องจากมีฝนตกตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ดอกและผลร่วง ออกเป็นใบอ่อนแทนการออกดอก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

 

สำหรับภาพรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ผลผลิตได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยผลผลิตจะออกมากสุด(พีค)ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2565 ซึ่งขณะนี้ทุเรียน มังคุด เงาะ ส่วนใหญ่อยู่ระยะการเจริญเติบโตโดยอยู่ในช่วงผลเล็ก ในส่วนทุเรียนออกดอกแล้ว ร้อยละ 64 เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป และผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม

 

มังคุด ออกดอกแล้ว ร้อยละ 30 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม 2565   เงาะ ออกดอกแล้ว ร้อยละ 54 เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม และลองกอง ออกดอกบ้างเล็กน้อยร้อยละ 13 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะช่อดอก คาดว่าจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน และผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกันยายน

 

สศก.ภาคใต้ เตรียมชงข้อมูลฟรุ้ทบอร์ด รับมือช่วงพีคผลไม้ 14 จังหวัดใต้ทะลัก

 

นายนิกร กล่าวถึง แนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ว่า จะยึดหลัดการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 - 2566 คือ มีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้ออย่างรวดเร็ว ด้วยช่องทางการค้าออนไลน์อย่างเหมาะสม โดยมุ่งเน้นใน 3 เรื่อง คือ 1. การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ระดับจังหวัด การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้ การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ตลอดฤดูกาลผลิตจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด

 

2.การบริหารจัดการเชิงปริมาณ มุ่งเน้นการบริหารจัดการจัดสมดุลอุปสงค์ อุปทาน จัดทำข้อมูลความต้องการตลาด และปรับสมดุลข้อมูลของอุปสงค์และอุปทาน เชื่อมโยงข้อมูลประมาณการผลผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดของผลไม้แต่ละชนิด และ 3. จัดเตรียมเหตุรองรับปริมาณผลผลิตในช่วงที่ผลไม้ออกมาก

 

สศก.ภาคใต้ เตรียมชงข้อมูลฟรุ้ทบอร์ด รับมือช่วงพีคผลไม้ 14 จังหวัดใต้ทะลัก

 

อย่างไรก็ดี จากปรากฏการณ์ลานีญาที่ส่งผลให้เกิดฝนตกติดต่อกันเป็นช่วง ๆ อาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงลดลงได้อีก ซึ่งสศท.8 และ สศท.9 จะได้ติดตามสถานการณ์โดยร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ผลการพิจารณาข้อมูลเอกภาพไม้ผลปี 2565 ภาคใต้ 14 จังหวัด ครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ จะนำไปใช้เป็นข้อมูลจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ระดับจังหวัด ระดับภาคใต้ และเสนอต่อคณะกรรมการบริหารและจัดการไม้ผล (ฟรุ้ทบอร์ด) ต่อไป