“ไบเออร์ไทย” ทุ่ม 27 ล้านหนุนเกษตรกรกลาง-อีสาน ลุยนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่

21 พ.ค. 2565 | 02:01 น.

“ไบเออร์ไทย” 60 ปีสานต่อความสำเร็จโครงการ “Better Farms, Better Lives 2.0” ในการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย 11 จังหวัด ภาคกลาง-อีสาน กว่า 26,000 ราย ทุ่มงบ 26.7 ล้าน หนุนเกษตรกรเพิ่มศักยภาพการผลิต ลดต้นทุน และถ่ายทอดความรู้และการใช้นวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่

รายงานจากบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เผยว่า ได้ร่วมกับ มูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน “ศาสตร์แห่งแผ่นดินสร้างวิถีสู่อนาคตชาวนาไทย” ภายใต้โครงการ Better Farms, Better Lives 2.0 ณ ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ประจำตำบลสามง่ามท่าโบสถ์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 21 เมษายน และที่ศูนย์นาแปลงใหญ่ข้าว บ้านทรัพย์เจริญ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ภายใต้โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายสำคัญเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย 26,000 ราย ใน 11 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)ที่ปลูกข้าวบนพื้นที่รวม 300,000 ไร่

 

“ไบเออร์ไทย” ทุ่ม 27 ล้านหนุนเกษตรกรกลาง-อีสาน ลุยนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่

 

นายวีรพล เจริญพานิช ผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจครอปซายน์ ประเทศไทย กัมพูชา เมียนมา บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เผยว่า โครงการ Better Farms, Better Lives 2.0 จัดขึ้น ในโอกาสที่บริษัท ไบเออร์ไทย ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบ 60 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์และแนวคิด “ทุกคนมีสุขภาพดี และไม่ขาดแคลนอาหาร” และเพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ชาวนามีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

 

สำหรับโครงการ Better Farms, Better Lives 2.0 มุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การใช้โดรนจัดการศัตรูพืช ช่วยลดต้นทุนและเวลา ลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรงของเกษตรกรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องการจัดการแปลงปลูก การจัดการน้ำ การจัดการศัตรูพืช การคัดเลือกสายพันธุ์ จนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถได้ผลผลิตที่ดีกว่าเดิม จากชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาข้าวเองได้ จึงต้องเพิ่มคุณภาพเพิ่มผลผลิต ในส่วนนี้คือสิ่งที่ไบเออร์ไทยมุ่งหวังเพื่อให้เกิดการส่งต่อความรู้ไปสู่คนรุ่นถัดไป

 

“ไบเออร์ไทย” ทุ่ม 27 ล้านหนุนเกษตรกรกลาง-อีสาน ลุยนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่

 

นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้พัฒนาเกษตรกรผู้นำ 30-40 ราย ให้เป็นตัวแทนถ่ายทอดองค์ความรู้ มีการจัดทำแปลงนาสาธิต 30 แปลง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง การจัดประชุมระบบออนไลน์ผ่าน Zoom ทุกวันจันทร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ และเปิดให้เกษตรกรสามารถถามคำถามเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนทักษะใหม่ในการจัดการนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

 

ด้าน นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล ประธานมูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทย กล่าวว่า มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการชีวิตของเกษตรกรในระดับครัวเรือน และถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้เกษตรกรยอมรับ และเห็นความจำเป็นที่ต้องนำนวัตกรรมมาใช้ในโลกยุคปัจจุบัน โดยยึดถือหัวใจสำคัญของการพัฒนาคือ เกษตรกรต้องได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น

 

อนันต์  ภู่สิทธิกุล

 

“สิ่งที่ภาคีเครือข่ายร่วมกันดำเนินโครงการ Better Farms, Better Lives เพื่อแสดงความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของเกษตรกรต้องการให้เกษตรกรยกระดับการจัดการชีวิตในครัวเรือน ลดภาระหนี้สิน และยอมรับที่จะนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้ได้รับกำไรต่อหน่วยมากขึ้น”

               

มูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทยได้ร่วมมือกับไบเออร์ในโครงการ Better Farms, Better Lives ตั้งแต่ครั้งที่ 1 โดยสนับสนุนเกษตรกรรวมกลุ่มและสร้างแกนนำเกษตรกร ร่วมฝึกฝนทักษะปฏิบัติการในแปลงทดลอง เช่น การพัฒนาจุลินทรีย์ในดินของกรมพัฒนาที่ดิน, การจัดการข้าวของกรมการข้าว, การใช้โดรนให้มีประสิทธิภาพของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น พร้อมสื่อสารไปสู่ชุมชนและอาศัยกลไกทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ

 

“ไบเออร์ไทย” ทุ่ม 27 ล้านหนุนเกษตรกรกลาง-อีสาน ลุยนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่

 

โครงการ Better Farms, Better Lives ครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ..2563 ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย 50,000 ราย ในภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดี กระทั่งในปี 2564-2565 โรคโควิด-19 ยังคงระบาด บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด จึงเดินหน้าโครงการนี้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ใช้งบประมาณ 26.7 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ได้ขยายพื้นที่เป้าหมายจากเดิมภาคกลางไปยังภาคอีสาน 11 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวนาหว่านน้ำตม ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท พิจิตร ขอนแก่น และนครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการเพิ่มผลผลิตอย่างมีคุณภาพ แบ่งเบาภาระเกษตรกรด้านต้นทุนการเพาะปลูก และยกระดับนวัตกรรมจัดการวัชพืชในนาข้าว ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวนาว่าเป็นโครงการช่วยเหลือที่ตรงจุดและตอบโจทย์สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน