ผ่า 4 โจทย์ใหญ่ 'อุตสาหกรรมไทย' จากช้างสาร สู่ หญ้าแพรก

19 พ.ค. 2565 | 07:28 น.

ส.อ.ท. ผ่า 4 โจทย์ท้าทาย 'อุตสาหกรรมไทย' เมื่อสงครามการค้า , รัสเซีย-ยูเครน รบกัน และ ดิจิทัล , นโยบายโลกร้อน ดิสรัปชั่น ภาคผลิต เครื่องยนต์หลักเศรษฐกิจไทย

19 พฤษภาคม 2565 - นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวในเวทีเสวนา : เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร ในงาน : ถามมา ตอบไป Better Thailand Open Dialogue  เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า 
ถึง ทิศทางอุตสาหกรรมไทย ว่า ยอมรับขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความท้าทายสูง คล้ายกำลังโดนไล่ล่า จากหลายปัจจัยนอกเหนือการควบคุม ซึ่งผู้ประกอบการหลัก ทั้ง 45 อุตสาหกรรม ภาคผลิตที่ใหญ่ที่สุด จะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันต่อสถานการณ์ ดังนี้ 
 

4 โจทย์ใหญ่ อุตสาหกรรมไทย 

 

1. ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) กระทบต่ออุตสาหกรรมที่เคยแข็งแกร่ง ทำกำไรได้ดี หลังจากกระแส การเข้ามามีบทบาทของดิจิทัล เข้ามาดิสรัปชั่น ส่งผลที่ผ่านมา มีหลายราย หายไปจากตลาด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม ทั้งนี้ สอท. ได้ริเริ่มนโยบาย อินดัสทรีทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อมาแก้โจทย์ หนีกระแสการไล่ล่า เช่น การใช้เทคโนโลยี IOT เพื่อนำพาอุตสาหกรรมไทย ไปสู่ 4.0 จากจุดต่ำ 2.0 ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากไม่น้อย  

2.สงครามการค้าโลก ระหว่างสหรัฐ - จีน ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ หลังจากมหาอำนาจของโลก อันดับ 1 และ อันดับ 2 รบกัน คล้าย 'ช้างสารวิ่งชน หญ้าแพรกแตกกระจาย'  ท่ามกลางปัญหา ตามมา เช่น การกีดกั้นการค้า ซัพพลายเชนโลกขาด ขณะที่ อุตสาหกรรมไทยนั้น ได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เช่น อุตสาหกรรมที่มีการส่งออกไปจีน เพื่อประกอบชิ้นส่วน ก่อนส่งขายไปที่สหรัฐ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก  ผ่านการถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม อย่างไรก็ตาม อีกมุมเป็นโอกาส ของสินค้าแบรนด์ไทย เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ซึ่งไทยเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ทำให้ ได้อานิสงส์ จากฝั่งอเมริกา แต่ขณะนี้ กำลังเกิดปัญหาใหม่ กรณีชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากจีนเริ่มขาดช่วง กระทบต่อการผลิต 

 

" สำรวจพบ จาก 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ราว 30% ต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากจีน ขณะนี้ สอท. กำลังพูดคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อหาทางออกอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจต้องยอมรับร่วมกันให้ได้ว่า หมดยุคซื้อของถูกที่สุดแล้ว และหันมาจัดหาระบบซัพพลายเชนเอง ก่อนมาเจอสถานการณ์โควิด-19 ซ้ำเติม " 


3.ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยสงคราม ทำให้เกิดปัญหาชะงักงันของชัพพลายเชนโลกขนาดใหญ่  วัตถุดิบราคาแพง จากราคาน้ำมัน วิกฤติพลังงาน และสินแร่โลหะ แต่กลับมีอุตสาหกรรมดาวรุ่งเกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร แม้สงครามจะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น  แต่วันนี้ พบไทยยังสามารถส่งออกกลุ่มอาหารได้สูง จากความต้องการของโลก และปัญหาขาดแคลนในยุโรป ส่วนแนวทางแก้ปัญหา กำลังพิจารณาถึงแหล่งนำเข้าใหม่ เพื่อผูกราคา สำหรับการซื้อขายระยะยาว และแนะให้ผู้ผลิตปรับสูตรการผลิต 

 

4. สภาวะโลกร้อน (Global warming) หลังจาก นายกรัฐมนตรี ยืนยันไทย จะให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเวทีการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ มุ่งลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศา ขณะปี 2030 ไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 40% ส่วนเป้าหมายใหญ่ 2065 ไทยจะเป็น Net - Zero ซึ่งถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมไทย ในแง่การปฎิบัติตามนโยบาย โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีการส่งออกไปยังยุโรป ขณะมีการเก็บคาร์บอนเครดิต กดดันให้อุตสาหกรรมไทย ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี และหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ลดลงตามเป้าหมาย 


"วันนี้อุตสาหกรรมไทยมีความท้าทายตรงหน้า ที่ต้องตามแก้ และกดดันให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวตลอดเวลา ขณะวันข้างหน้า ก็น่าจะมีเรื่องใหม่ๆเกิดขึ้นเช่นกัน ฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องตื่นตัวตลอดเวลา  อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤติก็เป็นโอกาส จากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆยังดับ แต่มีการส่งออกเป็นหลัก ช่วยดันจีดีพีไทยที่ติดลบ ช่วงปี 2563 สู่การขยายตัว 1.6 % ในปี 2564 พร้อมเชื่อว่า อุตสาหกรรมส่งออกไทย ยังจะเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้และปีต่อๆไป"